วันมาฆบูชา
วันมาฆบูชาถือเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา และเป็นวันหยุดของทางราชการและเอกชน ทั่วทั้งปะเทศไทย ทำให้ชาวไทยมีโอกาสได้เข้าวัดทำบุญ และน้อมรำลึกถึงคำสอนสิ่งดีๆของพระพุทธเจ้า ซึ่งการไม่ทำความชั่ว และบำเพ็ญแต่ความดี จะทำให้จิตใจผ่องใส รวมถึงการรู้จักอดทน อดกลั้นต่อสิ่งยั่วยุทั้งหลาย เป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า รวมถึงการไม่ผู้ทำร้าย หรือผู้เบียดเบียนคนอื่น การไม่กล่าวร้าย แม้แต่ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร และความเพียรพยายามเหล่านี้ล้วนแต่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่เข้าใจกันโดยทั่วไป แต่ที่ทุกคนมักจะจำกันได้มากที่สุด ก็คือ การไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี และทำจิตใจให้ผ่องใสนั่นเอง
ความหมายของวันมาฆบูชา
มาฆบูชา มาจากคำว่า "มาฆปูรณมีบูชา" หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ ตามปฏิทินของอินเดีย หรือเดือนสาม(๓) ตามปฏิทินจันทรคติของไทย คือการทำบุญทางพระพุทธศาสนา ในวันเพ็ญเดือน 3 เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญซึ่งประกอบด้วยองค์ 4 ประการ คือ
1. วันเพ็ญดวงจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
2. พระสงฆ์ 1,250 รูปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
3. พระสงฆ์ที่มาประชุมนั้นล้วนได้รับเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
4. เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาติโมกข์" ซึ่งถือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาแก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก...
โอวาทปาฏิโมกข์
โอวาทปาฏิโมกข์ หลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา หรือคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ พระพุทธพจน์ ๓ คาถากึ่ง ที่พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ผู้ไปประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ พระเวฬุ วนาราม ในวันเพ็ญเดือน ๓ ที่เราเรียกกันว่าวันมาฆบูชา (ถรรถกถากล่าวว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ นี้ แก่ที่ประชุมสงฆ์ตลอดมา เป็นเวลา ๒๐ พรรษา ก่อนที่จะโปรดให้สวดปาฏิโมกข์อย่างปัจจุบันนี้แทนต่อมา), คาถา โอวาทปาฏิโมกข์ มีดังนี้ (โอวาทปาติโมกข์ ก็เขียน)
สพฺพปาปสฺส อกรณํกุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํเอตํ พุทธาน สาสนํฯ
ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ
อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ
แปล : การไม่ทำความชั่วทั้งปวง, การบำเพ็ญแต่ความดี, การทำจิตของตนให้ผ่องใส นี้เป็นคำสอนของ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขันติ คือความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง, พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่านิพพาน เป็นบรมธรรม, ผู้ทำร้ายคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต,ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ การไม่กล่าวร้าย, การไม่ทำร้าย, ความสำรวมในปาฏิโมกข์, ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร, ที่นั่งนอนอันสงัด, ความเพียรในอธิจิต นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ที่เข้าใจกันโดยทั่วไป และจำกันได้มาก ก็คือ ความในคาถาแรกที่ว่า ไม่ทำชั่ว ทำแต่ความดี ทำจิตใจให้ผ่องใส
ที่มาของวันมาฆบูชาในประเทศไทย
สมัยก่อนนั้นในประเทศไทยยังไม่มีพิธีมาฆบูชา รวมถึงประเทศอื่นๆ ที่มีประชาชนนับถือศาสนาพุทธ จนกระทั่งในสมัยของรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ได้ทรงปรารภถึงเหตุการณ์ครั้งพุทธกาลในวันเพ็ญเดือน 3 ว่า เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ควรประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนา เพื่อส่งเสริมและเพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาเลื่อมใสให้แก่ประชาชนทั่วไป จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัด พระราชกุศลมาฆบูชาขึ้น พร้อมกับประกอบพระราชพิธี ที่คล้ายกับวันวิสาขบูชา ซึ่งจะมีการบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ รวมถึงการพระราชทานจุดเทียนตามประทีป เพื่อเป็นพุทธบูชาในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระอารามหลวงต่าง ๆ ซึ่งในช่วงแรกๆ นั้น พิธีมาฆบูชาคงเป็นเพียงพระราชพิธีที่อยู่ภายใจ และยังไม่มีการแพร่หลายเท่าใดนัก แต่ต่อมาจึงเริ่มจัดพิธีมาฆบูชาขึ้นในหมู่เล็กๆ และเริ่มขยายออกไปทั่วราชอาณา จักร ซึ่งทำให้ประชาชนทุกคน มีส่วนร่วมทำกิจกรรมพิธีวันมาฆบูชา นั่นเอง
ส่วนพิธีมาฆบูชาของต่างประเทศที่มีการนับถือศาสนาพุทธ ก็อาจจะไม่แตกต่างอะไรกับบ้านเรา เพราะนอกจากจะมีการทำบุญตักบาตร และพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาแล้ว การถือดอกไม้ เพื่อเวียนเทียนรอบโบสถ์ ก็ยังคงกระทำเหมือนกันอีกด้วย เพื่อน้อมรำลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าเช่นกัน
วันที่ใช้จัดงาน
แต่ละปีวันมาฆบูชาจะไม่ตรงกันตามปฏิทินสากล จะใช้วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสาม(๓) ตามปฏิทินจันทรคติไทย ในการจัดพิธีการสำคัญนี้
ปฏิทินวันมาฆบูชา
วันมาฆบูชา พ.ศ.2558 ตรงกับ วันพุธที่ 4 มีนาคม พ.ศ.2558 / วันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสี่(๔) ปีมะเมีย
วันมาฆบูชา พ.ศ.2559 ตรงกับ วันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2559 / วันจันทร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสาม(๓) ปีมะแม
วันมาฆบูชา พ.ศ.2560 ตรงกับ วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560 / วันเสาร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสาม(๓) ปีวอก
วันมาฆบูชา พ.ศ.2561 ตรงกับ วันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2561 / วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสี่(๔) ปีระกา
วันมาฆบูชา พ.ศ.2562 ตรงกับ วันอังคารที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 / วันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสาม(๓) ปีจอ
วันมาฆบูชา พ.ศ.2563 ตรงกับ วันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 / วันเสาร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสาม(๓) ปีกุน
วันมาฆบูชา พ.ศ.2564 ตรงกับ วันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 / วันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสี่(๔) ปีชวด
วันมาฆบูชา พ.ศ.2565 ตรงกับ วันพุธที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 / วันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสาม(๓) ปีฉลู
วันมาฆบูชา พ.ศ.2566 ตรงกับ วันจันทร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ.2566 / วันจันทร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสี่(๔) ปีขาล
วันมาฆบูชา พ.ศ.2567 ตรงกับ วันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2567 / วันเสาร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสาม(๓) ปีเถาะ
วันมาฆบูชา พ.ศ.2568 ตรงกับ วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2568 / วันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสาม(๓) ปีมะโรง
ประวัติของวันมาฆบูชา
วันมาฆบูชา ในอดีตกาล มีเหตุการณ์ที่น่าประหลาดใจคือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งยิ่งใหญ่ในพระพุทธศาสนา โดยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน 4 ประการ คือ พระสงฆ์สาวก 1,250 รูปได้มาประชุมพร้อมกัน โดยมิได้นัดหมาย และพระสงฆ์ที่มาประชุม คือที่ผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรงทั้งสิ้น ทั้งหมดเป็น "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" และพระสงฆ์ที่มาประชุมล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา 6 จึงเรียกวันนี้อีกอย่างหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ประกอบ 4 ประการ หมายความว่า "การประชุมด้วยองค์ 4"กล่าวคือมีเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันเดียวกัน ณ วัดเวฬุวัน ที่ประทับของพระพุทธเจ้า
ซึ่งหลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือนหก(๖)แล้ว ได้ทรงประกาศพระศาสนาพร้อมกับส่งพระอรหันต์สาวกออกไปจาริกเพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนาตามสถานที่ต่าง ๆ นานถึง 9 เดือน ในวันที่ใกล้พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ พระอรหันต์ทั้งหลายเหล่านั้นต่างได้ระลึกว่า เป็นวันสำคัญของศาสนาพราหมณ์ซึ่งแต่เดิมนั้นเหล่าพระอรหันต์เคยนับถือก่อนที่จะหันมานับถือพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า โดยวันเดียวกันนี้เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนมาฆะ หรือวันศิวาราตรี จะทำการบูชาพระศิวะด้วยการล้างบาปด้วยน้ำ แต่เมื่อหันมานับถือพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าแล้ว พระอรหันต์ ทั้ง 1,250 รูป เหล่านั้นจึงพร้อมใจกันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมายเพื่อบูชาฟังพระสัทธรรมจากพระพุทธเจ้า
จนกระทั่งในสมัยของรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการจัด พระราชกุศลมาฆบูชาขึ้น เพราะพระองค์ได้ทรงปรารภถึงเหตุการณ์ครั้งพุทธกาลในวันเพ็ญเดือน 3 ว่า เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เพื่อเป็นการส่งเสริมพระพุทธศาสนา และเพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาเลื่อมใสให้แก่ประชาชนทั่วไป จึง ประกอบพระราชพิธี ที่คล้ายกับวันวิสาขบูชา ซึ่งจะมีการบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ รวมถึงการพระราชทานจุดเทียนตามประทีป เพื่อเป็นพุทธบูชาในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระอารามหลวงต่าง ๆ ซึ่งในช่วงแรกๆ นั้น พิธีมาฆบูชาคงเป็นเพียงพระราชพิธีที่อยู่ภายใจ และยังไม่มีการแพร่หลายเท่าใดนัก แต่ต่อมาจึงเริ่มจัดพิธีมาฆบูชาขึ้นในหมู่เล็กๆ และเริ่มขยายออกไปทั่วราชอาณาจักร และเริ่มนิยมกันอย่างแพร่หลาย ทำให้ประชาชนทุกคน มีส่วนร่วมทำกิจกรรมพิธีวันมาฆบูชา และทำเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกปี
กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันมาฆบูชา
วันมาฆบูชา ได้ถูกประกาศให้เป็นวันหยุดราชการทั่วประเทศ เพื่อที่จะให้พุทธศาสนิกชน รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์และประชาชนทั่วไป ประกอบพิธีต่าง ๆ เพื่อบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญดังกล่าวที่ถือได้ว่า เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประทานโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นหลักคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ การไม่ทำความชั่ว การบำเพ็ญความดี และการทำจิตใจให้ผ่องใส
เข้าวัดในวันมาฆบูชา
วันมาฆบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า ไปวัดเพื่อฟังพระธรรมเทศนา หรือจัดสำรับคาวหวานไปทำบุญถวายภัตตาหาร ช่วงบ่ายฟังพระแสดงพระธรรมเทศนา เจริญสมาธิภาวนา และตลอดวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดี เช่น ไปวัดรับศีล งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ถวายสังฆทาน ปล่อยนกปล่อยปลา เมื่อถึงตอนค่ำ นำดอกไม้ ธูปเทียนไปเวียนเทียน 3 รอบที่พระอุโบสถ โดยการเวียนเทียนนั้นจะเวียนขวา จำนวน 3 รอบ และช่วงเวลาที่เดินอยู่นั้นให้ระลึกถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สำหรับตามบ้านเรือน สถานที่ราชการ จะมีการประดับธงชาติ ธงธรรมจักร เพื่อระลึกถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
กิจกรรมร่วมกับครอบครัว
กิจกรรมในวันวันมาฆบูชา ซึ่งหากได้อยู่กันพร้อมหน้าครอบครัว สิ่งที่ร่วมกันทำส่วนใหญ่มักจะเป็นการความสะอาดบ้าน จัดแต่งหิ้งพระบูชาประจำบ้าน ชวนครอบครัวไปทำบุญตักบาตร รับศีล ฟังธรรม บำเพ็ญกุศลและปฏิบัติธรรม รวมทั้งควรศึกษาหลักธรรมคำสั่งสอน และความสำคัญของวันมาฆบูชา และตกเย็นอาจจะชวนกันไปเวียนเทียน
กิจกรรมของสถานศึกษา
สถานศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญอีกแห่ง โดยจะมีการจัดบอร์ดของวันมาฆบูชา จัดนิทรรศการให้ความรู้ ประกวดเรียงความ ตอบปัญหาธรรมะ หรือให้นักเรียนร่วมกันทำบุญ ตักบาตร และ เวียนเทียน รวมถึงการบำเพ็ญกุศล อื่นๆ อย่างการเก็บกวาดขยะรอบวัด และอาจมีการประกาศเกียรติคุณให้กับนักเรียนผู้ทำประโยชน์ ซึ่งถือเป็นสิ่งประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี
นอกจากนี้ในส่วนของของสังคม ไม่ว่าจะเป็นวัด สื่อมวลชน สถานีรถไฟ ฯลฯ อาจจะมีการประชาสัมพันธ์ความสำคัญของวันมาฆบูชา หรือมีการเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาร่วมกัน เช่น ทำบุญตักบาตร ฟังธรรม ช่วยกันทำประโยชน์ต่อสังคมแทน เช่นช่วยกันปลูกต้นไม้ หรือทำความสะอาดที่สาธารณะ ฯลฯ
สิ่งที่ไม่ควรนำไปปฏิบัติในวันมาฆบูชา
เพราะวันมาฆบูชาเป็นวันสำคัญทางศาสนา สิ่งที่ควรระวังและควรปฏิบัติ ควรเป็นสิ่งที่ดี พูดดี คิดดี และทำดี เพื่อรำลึกถึงคำสอนของหลักธรรมสำคัญอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เพื่อไปสู่ความหลุดพ้น แต่สิ่งที่ไม่ควรกระทำในวันมาฆบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองก็คือ
ไม่ทำบาป
วันมาฆบูชา ถือว่าเป็นวันพระใหญ่ การไม่ทำบาป ไม่ทำชั่ว ด้วยการ ลด ละ เลิก สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย ที่จะก่อให้เกิดผลไปในทางที่ไม่ดี ซึ่งเป็นทางแห่งความชั่ว ไม่ว่าจะเป็นการทำบาปหรือทำชั่วทั้งกาย อย่างการฆ่าสัตว์ ขโมยของหรือผิดลูกเมียชาวบ้าน ทำชั่วทางวาจา คือการพูดเท็จ การพูดส่อเสียด หรือแดกดัน คนอื่นโดยเจตนา และทำชั่วทางใจ คือ คิดอยากได้ของๆคนอื่นหรือใจผูกพยาบาท และความเห็นผิดเป็นชอบ
ไม่เบียดเบียน
การทำความดีด้วยการทำกุศลให้ถึง คือ การทำความดีทั้งทางกาย ไม่ทำร้ายสัตว์ ไม่เบียดเบียนหรือเอาเปรียบผู้ที่อ่อนแอกว่า ไม่แอบเอาของคนอื่นมา และควรเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ทำความดีด้วยวาจาด้วยการไม่โกหก ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบคาย และทำความดีทางใจ ด้วยการไม่โลภและอยากได้ของผู้อื่น ควรมีความเมตตาปรารถนาดีต่อคนรอบข้าง
ทำจิตใจให้ผ่องใส
การทำจิตใจให้ผ่องใสด้วยการทำจิตใจให้บริสุทธิ์ เพื่อให้หลุดพ้นจากสิ่งยั่วยุจากสิ่งรอบข้างทั้งทางร่างกายและจิตใจ ที่คอยขัดขวางจิตใจไม่ให้เข้าถึงความสงบ รู้จักพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่โดยไม่มักมากในกาม ไม่มีความพยาบาท ไม่มีความหดหู่หรือท้อแท้ ทำจิตใจให้สงบไม่คิดฟุ้งซ่าน และเกิดความลังเลสงสัย
ทั้ง 3 หลักการข้างต้นคือการทำความดี และละเว้นความชั่ว ซึ่งจะทำจิตใจให้บริสุทธิ์ แม้จะไม่ใช่วันมาฆบูชา หากแต่ชาวพุทธอย่างเราๆ ท่านๆ ได้ทำในสิ่งที่ดีที่ถูกต้อง ก็จะทำให้ประเทศเราน่าอยู่ขึ้นอีกเยอะเลยทีเดียว
แนวทางการส่งเสริมวันมาฆบูชา
แนวทางการส่งเสริมวันมาฆบูชานี้ พุทธศาสนิกชน ควรปฏิบัติตนและเข้าร่วมพิธีกรรมในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเพื่อสืบทอดหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อให้อยู่คู่กับคนไทยไปนานๆ และเน้นตามหลักคำสอนให้ทุกคนทำความดีและละเว้นความชั่ว
ทำบุญตักบาตร
วันมาฆบูชา ซึ่งถือเป็นวันพระและวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา การไปทำบุญที่วัด หรือการทำบุญตักบาตรที่วัดในช่วงเช้าการเตรียมอาหารคาว หวาน จัดใส่ปิ่นโต พร้อมนำดอกไม้ ธูป เทียนบูชาพระประธานที่วัดรวมถึง การรักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา และเจริญจิตภาวนา การรักษาศีลอุโบสถ รักษาศีล 5 ศีล 8 และบางคนอาจจะค้างที่วัดเพื่อ ปฏิบัติธรรม ส่วนใหญ่ นิยมสวมชุดสีขาว เพื่อระวังจิตใจของตนเองให้ขาวสะอาดบริสุทธิ์ เหมือนผ้าสีขาวที่ใส่หรือสวมชุดสุภาพเรียบร้อย
เวียนเทียน
ประเทศไทยได้รับพิธีการเวียนมาจากอินเดีย พร้อมกับพระพุทธศาสนา โดยใช้การเวียนขวา 3 รอบ ซึ่งจะมีพิธีในช่วงหัวค่ำ โดยประชาชนจะมาพร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถของวัดใกล้บ้าน ในขณะที่เวียนเทียนให้ระลึกถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
จัดบอร์ด
จัดบอร์ดหรือจัดนิทรรศการตามโรงเรียน หรือหน่วยงานราชการต่างๆ เพื่อเผยแพร่วันสำคัญทางพุทธศาสนา ซึ่งจะมีการบอกถึงที่มา ประวัติของวันมาฆบูชา และประวัติของพระพุทธเจ้า และหลักคำสอนต่างๆ เพื่อเป็นความรู้และการส่งเสริมสิ่งดีๆ ให้กับเยาวชน และประชาชนทั่วไป เพื่อให้เกิดความสำนึกถึงหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ทำความดีละเว้นความชั่ว
กิจกรรมเพื่อสังคม
การทำประโยชน์หรือกิจกรรมเพื่อส่วนรวม หรือทำเพื่อสาธารณะ ในวันมาฆบูชา ถือเป็นสิ่งที่ดีที่ไม่ว่าจะทำคนเดียว หรือเป็นกลุ่ม ซึ่งการร่วมบำเพ็ญประโยชน์ร่วมกัน ร่วมทำบุญ และบำเพ็ญกุศล รวมถึงการช่วยกันรณรงค์ให้เลิกอบายมุข และ รณรงค์ให้ช่วยกันทำประโยชน์ต่อสังคมแทน หรืออาจช่วยกันปลูกต้นไม้ ทำความสะอาดที่สาธารณก็ถือเป็นการส่งเสริมการทำกิจกรรมในวันมาฆบูชาแล้ว
การดำเนินรอยตามพระพุทธศาสนาด้วยการทำบุญ และยึดมั่นทำความดี รวมถึงเข้าใจในหลักสอนของคำสอนพระพุทธเจ้า จะทำให้ สามารถเข้าถึงหลักธรรมต่างๆ และเข้าใจถึงความสำคัญของวันมาฆบูชา ซึ่งจะทำให้เกิดความเลื่อมใสต่อความสำคัญของพระพุทธศาสนาและอยากที่จะรักษาและปฏิบัติหน้าที่ในฐานะชาวพุทธ เพื่อเป็นการช่วยธำรงพระพุทธศาสนาให้สืบต่อไป