วันพ่อ
วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นอีกหนึ่งวันที่ชาวไทยให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งถือว่าเป็นวันพ่อแห่งชาติ วันที่ราชการประกาศให้เป็นวันหยุด ทำให้ชาวไทยทุกคน ต่างทำกิจกรรมวันพ่อมากมาย และไม่ลืมที่จะทำดี เพื่อพ่อหลวงของแผ่นดินเพื่อตอบแทน ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ต่อพสกนิกรชาวไทย ทรงพระราชกรณียกิจโดยไม่ห่วงพระวรกาย จากที่เราชาวไทยได้เห็นกันมาตลอด ทำให้เกิดความซาบซึ้งรวมไปถึงการทำดีกับพ่อที่บ้านของตัวเองด้วย ที่ผ่านมาหลายคนอาจจะไม่ค่อยได้แสดงความรักกับพ่อสักเท่าไหร่ วันที่ 5 ธันวาคมนี้อาจจะทำให้เป็นการเริ่มต้นพูดและทำสิ่งดีๆ เพื่อพ่อบ้าง
ความหมายของวันพ่อ
"พ่อ" หมายถึง ผู้ชายที่เป็นสามีแม่ที่ให้กำเนิดแก่ลูก "พ่อ" เป็นคำที่ลูกเรียกผู้ชายซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดตน และ "พ่อ" คือชายที่เป็นเสาหลักของครอบครัว บางครั้งอาจจะใช้คำว่า บิดา หรือ บิดร ชนก แต่วันพ่อ คือ วันที่พระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2470
ปฏิทินวันพ่อ
วันพ่อ พ.ศ.2558 ตรงกับ วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2558 / วันเสาร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือนสิบสอง(๑๒) ปีมะแม
วันพ่อ พ.ศ.2559 ตรงกับ วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2559 / วันจันทร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือนอ้าย(๑) ปีวอก
วันพ่อ พ.ศ.2560 ตรงกับ วันอังคารที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2560 / วันอังคาร แรม ๒ ค่ำ เดือนอ้าย(๑) ปีระกา
วันพ่อ พ.ศ.2561 ตรงกับ วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2561 / วันพุธ แรม ๑๓ ค่ำ เดือนสิบสอง(๑๒) ปีจอ
วันพ่อ พ.ศ.2562 ตรงกับ วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2562 / วันพฤหัสบดี ขึ้น ๙ ค่ำ เดือนอ้าย(๑) ปีกุน
วันพ่อ พ.ศ.2563 ตรงกับ วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2563 / วันเสาร์ แรม ๕ ค่ำ เดือนอ้าย(๑) ปีชวด
วันพ่อ พ.ศ.2564 ตรงกับ วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2564 / วันอาทิตย์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย(๑) ปีฉลู
วันพ่อ พ.ศ.2565 ตรงกับ วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2565 / วันจันทร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนอ้าย(๑) ปีขาล
วันพ่อ พ.ศ.2566 ตรงกับ วันอังคารที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2566 / วันอังคาร แรม ๘ ค่ำ เดือนสิบสอง(๑๒) ปีเถาะ
วันพ่อ พ.ศ.2567 ตรงกับ วันพฤหัสบดีที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2567 / วันพฤหัสบดี ขึ้น ๕ ค่ำ เดือนอ้าย(๑) ปีมะโรง
วันพ่อ พ.ศ.2568 ตรงกับ วันศุกร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2568 / วันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนอ้าย(๑) ปีมะเส็ง
ที่มาของ วันพ่อแห่งชาติ ในประเทศไทย
คุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษาเป็นผู้ริเริ่มจัดงานวันพ่อแห่งชาติ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2523 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและพระราชธิดา และทรงทะนุบำรุงพระราชโอรส และพระราชธิดาด้วยความรัก ทรงอบรมอนุศาสน์ให้ทรงเจริญวัยสมบูรณ์ และทรงบำเพ็ญคุณานุประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนเพื่อให้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท ทำให้คุณหญิงเนื้อทิพย์ ได้เห็นแบบอย่างที่ดีจากในหลวง และคิดว่า "พ่อ" คือผู้ที่ควรได้รับการเทิดทูน และยกย่อง จึงได้จัดงานวันพ่อขึ้นมา
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้พสกนิกรเสมอมาจึงถือเป็น "พ่อแห่งชาติ" ของพสกนิกรชาวไทยทุกคน ที่ประชาชนชาวไทยต่างเทิดทูนด้วยความจงรักภักดีและ สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พร้อมยึดมั่นในการเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท
วันพ่อแห่งชาติ ในต่างประเทศ
วันพ่อแห่งชาติ ถือเป็นวันสำคัญที่ฉลองถึงความเป็นพ่อ พ่อแห่งชาติของแต่ละประเทศจะกำหนดวัน และจัดงานแตกต่างกันไป ซึ่งของ ประเทศสเปน โปรตุเกส อิตาลี วันพ่อแห่งชาติคือ วันที่ 19 มีนาคม ,ประเทศเกาหลีใต้ วันที่ 8 พฤษภาคม , ประเทศเดนมาร์กวันที่ 5 มิถุนายน ,ประเทศโปแลนด์ วันที่ 23 มิถุนายน ,ประเทศบราซิล วันอาทิตย์ที่สองของเดือนสิงหาคม, ประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ วันอาทิตย์แรกของเดือนกันยายน , ประเทศฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ วันอาทิตย์ที่สองของเดือนพฤศจิกายน ,ประเทศญี่ปุ่น อาร์เจนตินา ไอร์แลนด์ มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร วันอาทิตย์ที่สามของเดือนมิถุนายน ส่วนจอห์น บี. ดอดด์ ชาวอเมริกัน เป็นผู้ที่ริเริ่มแนวคิด วันพ่อแห่งชาติ โดยงาน วันพ่อแห่งชาติ ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2461 ในเมืองแฟร์มอนต์ รัฐเวสต์เวอร์จิเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนที่แนวคิดวันพ่อแห่งชาติ ของจอห์น บี. ดอดด์ จะถูกเผยแพร่ไปในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก
ประวัติวันพ่อ
สำหรับวันพ่อแห่งชาติของประเทศไทย ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2470 มีการกำหนดให้ดอกพุทธรักษา เป็นสัญลักษณ์ วันพ่อแห่งชาติทั้งนี้ นอกจากวันที่ 5 ธันวาคม จะเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และเป็น "วันพ่อแห่งชาติ" แล้ว ยังถือว่าวันนี้เป็น "วันชาติของไทย" อีกด้วย
ซึ่งก่อนหน้านี้วันที่ 24 มิถุนายน สมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกฯ ประเทศไทยเคยมีการกำหนดให้เป็น วันชาติ เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย โดยได้มีการเฉลิมฉลองวันชาติครั้งแรกในปี พ.ศ.2482
จนกระทั่งวันที่ 21 พฤษภาคม 2503 ในสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกฯ มีความเห็นว่าเพื่อให้เป็นไปตามขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นหลักการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติ ได้มีการเปลี่ยนแปลง"วันชาติ" ของไทย ซึ่งอยู่มานานถึง 21 ปี และให้ถือเอาวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย
โดยเหตุที่เปลี่ยนแปลง "วันชาติ" มีข้อไม่เหมาะสมหลายประการ จึงยกเลิกวันชาติ ในวันที่ 24 มิถุนายน และนับแต่ปี พ.ศ.2503 ประเทศไทยจึงได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็น "วันชาติ" ของไทย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เหตุผลที่มีการจัดตั้งวันพ่อขึ้นแห่งชาติ เนื่องจากพ่อ เป็นบุคคลผู้มีพระคุณและมีบทบาทสำคัญต่อครอบครัวและสังคมที่ผู้เป็นลูกจะเคารพเทิดทูนและตอบแทนพระคุณด้วยความกตัญญู และสังคมควรที่จะยกย่องให้เกียรติ และรำลึกถึงผู้เป็นพ่อ จึงถือเอาวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเป็น "วันพ่อแห่งชาติ" โดยวันพ่อแห่งชาติ ได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2523 โดยคุณหญิงเนื้อทิพย์ เสมรสุต นายกสมาคมผู้อาสาสมัครและช่วยการศึกษา
กิจกรรมวันพ่อแห่งชาติจัดติดต่อกันทุกปีตั้งแต่ พ.ศ.2523 จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ และสัญลักษณ์ที่ใช้ในวันพ่อได้แก่ ดอกพุทธรักษา ซึ่งมีชื่ออันเป็นมงคล
กิจกรรมที่นิยมทำกันในวันพ่อ
เนื่องในวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคมของทุกปี การจัดกิจกรรมวันแม่ โดยเน้นวัตถุประสงค์เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถและเพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้นึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ในพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยมาโดยตลอด ซึ่งเป็นประโยชน์แก่พสกนิกรชาวไทย กิจกรรมวันแม่ที่จัดขึ้นนอกเหนือจากจะเป็นการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้ว ยังเป็นการเฉลิมฉลองในวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ วันที่ 12 สิงหาคม นี้อีกด้วย
ร่วมจุดเทียนชัยถวายพระพร
ในช่วงเช้าบางสถานที่อาจจะจัดพิธีศาสนสงฆ์ ทำบุญใส่บาตร อุทิศเป็นพระราชกุศล น้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ส่วนช่วงเย็นจะมีพิธีร่วมจุดเทียนชัยถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งนำโดยคณะรัฐมนตรี และประชาชนทั่วไป ซึ่งจะประกอบพิธีวันพ่อ และร่วมกันร้องเพลงสดุดีมหาราชาเพื่อเทิดพระเกียรติและแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ไทยอันเป็นที่รักยิ่งแด่ปวงชนชาวไทย ซึ่งจะมีการแสดง แสงสีเสียง และมีการจุพลุอันยิ่งใหญ่ตระการตา ส่วนใครไม่ได้ไปที่ท้องสนามหลวงก็จีพิธีถ่ายทอดสด และร่วมกันจุดเทียนชัยกันตามบ้านเรือน รวมถึงการประดับไฟเฉลิมพระเกียรติ ด้วย
ประดับธงชาติ
วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี จะมีการประดับธงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นธงพื้นสีเหลือง กลางธงประดับสัญลักษณ์พระนามาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ภายใต้มงกุฎ ธงนี้ประชาชนจะประดับคู่กับธงชาติในวันพ่อ ซึ่งเป็นเดือนแห่งการเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ธงประจำพระองค์เหล่านี้ไม่เพียงแต่ใช้ประดับในพระราชพิธีและพิธีการต่าง ๆ ที่เป็นทางการเท่านั้น แต่ประชาชนชาวไทยในทุกชนชั้นและทุกหนแห่งนิยมประดับธงดังกล่าวร่วมกับธงชาติไทยตามบ้านเรือนและสถานที่ราชการ และตามไหล่ทาง เพื่อถวายพระเกียรติและแสดงความจงรักภักดีต่อในหลวงของเรา ถือเป็นลักษณะเด่นอย่างหนึ่งที่ถือเป็นธรรมเนียมและวัฒนธรรมไทย
กิจกรรมวันพ่อ
ตามหน่วยงานราชการต่างๆ และตามสถานศึกษามักจะจัดงานกันในวันที่ 4 ธันวาคม เพื่อทำการถวายพระพรพระบรมรูปของพระเจ้าอยู่หัว ส่วนตามสถานศึกษาก็จะจัดกิจกรรมวันพ่อ การจัดนิทรรศการ การแสดง การประกวดต่างๆ เพื่อรำลึกถึงพระคุณของพ่อของแผ่นดิน และอาจจะมีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
กราบขอพรจากพ่อ
เป็นกิจกรรมที่ลูกๆ ทำกันทุกปี สำหรับการกราบขอพรพ่อ แม้จะไม่นิยมนำดอกพุทธรักษามาไหว้พ่อ แต่การมอบของขวัญให้พ่อ บอกรักพ่อ ถือเป็นกิจกรรมวันพ่อเพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างพ่อ ลูก ซึ่งลูกๆได้มีการแสดงออกถึงความรักที่มีต่อพ่อ ส่วนใหญ่มักจะเป็นเด็กผู้หญิงมากกว่าที่นิยมทำการ์ดอวยพรให้พ่อ
แนวทางการส่งเสริมกิจกรรมวันพ่อ
เพราะกิจกรรมวันพ่อที่ถูกจัดขึ้นทุกปี เพื่อเพื่อเทิดทูนพระเกียรติคุณของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงปกป้องคุ้มครอง ประชาราษฎร์ให้มีแต่ความสงบสุขร่มเย็น ซึ่งวันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันพระราชสมภพขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ของปวงชนชาวไทย ซึ่งเป็นวันดีที่ลูกๆของแผ่นดิน จะตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณ ด้วยการส่งเสริมแนวทางกิจกรรมวันพ่อให้ยาวนานและตลอดไป
ประกาศเกียรติคุณให้กับพ่อดีเด่น
นอกจากการจัดนิทรรศการที่มีการเผยแพร่ประวัติเกี่ยวกับกระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมประกาศเกียรติคุณ มอบรางวัลพ่อตัวอย่างหรือพ่อดีเด่น เพื่อส่งเสริมการศึกษาของบุตร ธิดา เพื่อเทิดทูนพระคุณของพ่อ และยกย่องบทบาทของพ่อที่มีต่อครอบครัวและสังคม อีกทั้งยังเพื่อให้ผู้เป็นพ่อได้สำนึกในหน้าที่และความรับผิดชอบของตน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นในวันพ่อ หากมีกิจกรรมต่างๆ ที่สนับสนุนเรื่องการยกย่องพ่อ อย่างนี้ทุกๆปี จะทำให้เป็นแรงบันดาลใจทำให้พ่อของเยาวชน ตั้งใจทำความดีต่อไป แม้จะไม่มีผลตอบแทน แต่การได้เห็นคนอื่นทำความดี อาจจะเป็นแรงบันดาลใจก็ได้เช่นกัน ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมกิจกรรมวันพ่อได้ดี
วิ่งเทิดพระเกียรติ
การวิ่งเทิดพระเกียรติเพื่อแสดงพลังแห่งความจงรักภักดี และถวายเป็นพระราชกุศลแด่ "พ่อหลวง" ซึ่งจะวิ่งตั้งแต่บริเวณโรงพยาบาลศิริราชถึงท้องสนามหลวง ผ่านสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าเข้าถนนราชดำเนิน หรืออาจจะเป็นตามแต่ละปีที่กำหนด โดยหลังจากเสร็จการวิ่ง ก็จะเริ่มเข้าสู่พิธีการจุดเทียนชัยถวายพระพร ในช่วงค่ำคืน
งดอบายมุขในวันพ่อ
การเริ่มต้นงดเหล้า หรืออบายมุขต่างๆ ซึ่งหลายคนเริ่มต้นในวันพ่อ เป็นการดีที่อยากจะเริ่มอะไรใหม่ๆ หรือสิ่งดีๆ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งบางคนอาจจะอยากเลิกเหล้า หรือบุหรี่เพื่อพ่อ เพื่อครอบครัว จึงอาศัยวันสำคัญอย่างวันพ่อของแผ่นดิน เป็นการเริ่มต้น ซึ่งเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองและครอบครัว
นอกจากนี้แนวทางการส่งเสริมกิจกรรมวันพ่อ ซึ่งลูกๆ ทุกคนอาจจะพร้อมใจกันอุทิศตนเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน การทำความสะอาดแม่น้ำลำคลอง ถนน โรงพยาบาล และประดับรูปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไว้ที่หน้าบริษัทหรือหน่วยงานต่างๆ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย