วันขึ้นปีใหม่
พอถึงปลายเดือนธันวาคมทีไร เชื่อว่าหลายคนคงอยากจะเร่งให้ถึงวันปีใหม่เร็วๆ เพราะนอกจากจะได้หยุดหลายวันแล้ว ยังจะได้เจอพ่อแม่พี่น้องแบบรวมญาติ พร้อมหน้าพร้อมตากันสักที ส่วนบางคนก็แพลนโปรแกรมเที่ยวหรือจองทัวร์ไปเที่ยวในช่วงปีใหม่กันตั้งแต่กลางปีเลยทีเดียว เรียกว่าปีใหม่ของทุกๆปี นอกจากเป็นวันรวมญาติแล้ว คนที่ทำงานมาตลอดปียังได้มีโอกาสพักผ่อนแบบยาวๆ ใช่ช่วงเทศกาลวันหยุดนี้อีกด้วย ส่วนบางคนก็ถือเอาฤกษ์เอาชัยวันปีใหม่ เริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ เปลี่ยนอะไรใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น การจัดบ้าน เปลี่ยนนิสัยให้เป็นคนใหม่ หรือเปลี่ยนสไตล์การแต่งตัว เพื่อต้อนรับปีใหม่นี้ด้วย นอกจากนี้การมอบของขวัญให้กับผู้ที่เครารพนับถือ หรือเพื่อนบ้านเป็นสิ่งที่หลายๆคนทำมานาน จนแทบจะกลาย เป็นสิ่งที่คู่กับประเพณีวันปีใหม่เลยทีเดียว เพราะการมอบของในวันปีใหม่ ถือเป็นการกระชับไมตรีให้แน่นแฟ้นขึ้นนั่นเอง
ความหมายของวันปีใหม่
วันขึ้นปีใหม่ หมายถึง เวลาที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งใช้เวลาเดินทาง 365- 366 วัน หรือ เวลา 12 เดือนตามระบบสุริยคติ หรือเมื่อครบ 1 ปี ก็คือการหมุนเวียนมาบรรจบครบ 1 รอบ เพื่อที่จะขึ้นวันใหม่ของปีถัดไป ซึ่งเราเรียกวันนั้นว่า "ปีใหม่"
วันปีใหม่ไทย
สำหรับวันปีใหม่ในประเทศไทยสมัยก่อน เราถือเอาวันแรม ๑ ค่ำเดือนอ้าย(๑) เป็นวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาได้ใช้วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า(๕) ตามคติพราหมณ์เป็นวันขึ้นปีใหม่ และในสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ให้ถือเอาวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยนับแต่นั้นมา ต่อมาก็ได้มีการพิจารณาเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่อีกครั้งเป็นวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2484 ในสมัยคณะรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำให้วันขึ้นปีใหม่ของไทยจึงตรงกับวันที่ 1 มกราคมของทุกปี เหมือนวันขึ้นปีใหม่ของประเทศอื่นๆ ทั่วโลกตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
วันปีใหม่นานาชาติ
ในสมัยโบราณของแต่ละชาติต่างก็มีวันขึ้นปีใหม่ที่ไม่ตรงกัน ชาวเยอรมันในสมัยโบราณจะมีวันขึ้นปีใหม่ในปลายเดือนพฤศจิกายน ต่อมาเมื่อชาวโรมันได้เข้ามารุกราน จึงได้เลื่อนการฉลองปีใหม่มาเป็น วันที่ 1 มกราคม
ชาวโรมัน ไอยคุปค์ เฟนิเชียนและอิหร่านเคยจัดงานปีใหม่ วันที่ 21 กันยายน ต่อมาเมื่อใช้ปฏิทินแบบยูเลียน จึงเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มาเป็นวันที่ 1 มกราคม แต่พวกยิวจะขึ้นปีใหม่ประมาณวันที่ 6 กันยายน ชาวคริสเตียนในยุคกลางจะเริ่มปีใหม่ในวันที่ 25 มีนาคม เมื่อมีการใช้ปฏิทินแบบกรีกอเรียน ชาวคริสเตียนิกายโรมันคาทอลิกก็กลับมาขึ้นปีใหม่วันที่ 1 มกราคม
คนอังกฤษ เชื้อสายแองโกลซักซอนได้เริ่มปีใหม่วันที่ 25 ธันวาคม ภายหลังเมื่อพระเจ้าวิลเลี่ยม ได้เป็นราชาธิราชแห่งเกาะอังกฤษ จึงเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มาเป็นวันที่ 1 มกราคม
วันที่ใช้จัดงานวันปีใหม่
ตั้งแต่คืนวันที่ 31 ธันวาคม ถึง 1 มกราคม ของทุกปี จะมีงานรื่นเริงที่ใช้จัดต้อนรับเทศกาลปีใหม่ มีการจุดพลุเพื่อฉลองวันส่งท้ายปีทั่วโลก
ปฏิทินวันขึ้นปีใหม่
วันขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2559 ตรงกับ วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ.2559 / วันศุกร์ แรม ๗ ค่ำ เดือนอ้าย(๑) ปีมะแม
วันขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2560 ตรงกับ วันอาทิตย์ที่ 1 มกราคม พ.ศ.2560 / วันอาทิตย์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือนยี่(๒) ปีวอก
วันขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2561 ตรงกับ วันจันทร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ.2561 / วันจันทร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่(๒) ปีระกา
วันขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2562 ตรงกับ วันอังคารที่ 1 มกราคม พ.ศ.2562 / วันอังคาร แรม ๑๐ ค่ำ เดือนอ้าย(๑) ปีจอ
วันขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2563 ตรงกับ วันพุธที่ 1 มกราคม พ.ศ.2563 / วันพุธ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือนยี่(๒) ปีกุน
วันขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2564 ตรงกับ วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ.2564 / วันศุกร์ แรม ๓ ค่ำ เดือนยี่(๒) ปีชวด
วันขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2565 ตรงกับ วันเสาร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ.2565 / วันเสาร์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือนอ้าย(๑) ปีฉลู
วันขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2566 ตรงกับ วันอาทิตย์ที่ 1 มกราคม พ.ศ.2566 / วันอาทิตย์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนยี่(๒) ปีขาล
วันขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2567 ตรงกับ วันจันทร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ.2567 / วันจันทร์ แรม ๕ ค่ำ เดือนอ้าย(๑) ปีเถาะ
วันขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2568 ตรงกับ วันพุธที่ 1 มกราคม พ.ศ.2568 / วันพุธ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนยี่(๒) ปีมะโรง
วันขึ้นปีใหม่ พ.ศ.2569 ตรงกับ วันพฤหัสบดีที่ 1 มกราคม พ.ศ.2569 / วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือนยี่(๒) ปีมะเส็ง
ประวัติความเป็นมาปีใหม่ไทย
ในส่วนของไทยก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่เป็น 4 ระยะคือ
เริ่มแรกตามจารีตของไทยแต่โบราณได้ถือเอาวันแรม ๑ ค่ำเดือนอ้าย(๑) เป็นวันขึ้นปีใหม่ เหมือนหลายๆชาติที่ถือว่าฤดูเหมันต์หรือฤดูหนาวเป็นการเริ่มต้นปี ด้วยว่าคนสมัยก่อนเห็นว่าฤดูหนาว เป็นช่วงผ่านพ้นจากฤดูฝนอันมืดครึ้ม สว่างเหมือนเวลาเช้า ส่วนฤดูร้อนเป็นช่วงที่สว่างเหมือนเวลากลางวัน และฤดูฝนเป็นเวลามืดหม่นคล้ายกลางคืน เขาจึงนับฤดูเหมันต์หรือซึ่งมักตรงกับเดือนอ้ายที่สว่างเหมือนเวลาเช้าเป็นต้นปี นับช่วงฤดูร้อนเป็นกลางปีและฤดูฝนเป็นปลายปี
ระยะที่สอง เราได้มีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันขึ้น ๑ ค่ำเดือนห้า(๕) คือราวช่วงสงกรานต์ อันเป็นการเปลี่ยนจารีตไปตามคติพราหมณ์ที่นับวันตามจันทรคติ โดยใช้ปีนักษัตรและการเปลี่ยนจุลศักราชเป็นเกณฑ์
ระยะที่สาม ในสมัยรัชกาลที่ 5 เราก็ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 เมษายนอันเป็นนับวันทางสุริยคติ ซึ่งได้ประกาศใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2432 ส่วนพระราชพิธีปีใหม่นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าเสด็จเข้าไปรับพระราชทานเลี้ยง ณ ท้องพระโรงกลางพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อพระองค์ทรงทำการจับฉลากแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการบางคน และพระราชทานสิ่งของตามฉลากแล้วเสด็จพระราชดำเนินมาที่ศาลาหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทอดพระเนตรนครหลวงแล้วจึงเสด็จ ฯ กลับ
พ.ศ.2455 ในรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณโปรดเกล้าฯให้ใช้พุทธศักราช แทน รัตนโกสินทรศก ตั้งแต่ และในปีต่อมาใน โปรดให้รวมพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์เถลิงศกสงกรานต์ พระราชพิธีศรีสัจจปานกาลถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเข้าด้วยกันเรียกว่า พระราชพิธีตรุษสงกรานต์
ระยะที่สี่ คือปี พ.ศ.2483 รัฐบาลได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ไทยให้เป็นไปตามแบบสากลนิยม คือวันที่ 1 มกราคม ซึ่งมีเหตุผลว่าวันดังกล่าวกำหนดขึ้นโดยการคำนวณด้วยวิทยาการทางดาราศาสตร์ และเป็นที่นิยมใช้กันมากว่าสองพันปี อีกทั้งไม่เกี่ยวข้องกับลัทธิศาสนา หรือการเมืองของชาติใด แต่สอดคล้องกับจารีตประเพณีของไทยแต่โบราณที่ใช้ฤดูหนาวเป็นต้นปี ดังนั้น เราจึงมีวันขึ้นปีใหม่ตรงกับนานาประเทศ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2484 เป็นต้นมา
พ.ศ.2490 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โปรดให้ยกการพระราชกุศลสดับปกรณ์ผ้าคู่ในวันขึ้นปีใหม่ ไปใช้ในพระราชพิธีสงกรานต์ในวันที่ 13 - 14 - 15 เมษายน เป็นการฟื้นฟูขึ้น ตามโบราณราชประเพณีซึ่งเป็นเทศกาล สงกรานต์
ในปี พ.ศ.2500 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้งดการพระราชกุศลสวดมนต์เลี้ยงพระในวันขึ้นปีใหม่ เปลี่ยนเป็นเสด็จออกทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตรวันขึ้นปีใหม่แทนใน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตรขึ้นปีใหม่ ในวันที่ 1 มกราคม เป็นวันที่ 31 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันสิ้นปี
ทุก ๆ ปี ประชาชนทั่วประเทศต่างเฝ้ารอการพระราชทานพรปีใหม่ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ผ่าน ส.ค.ส. พระราชทานซึ่งส่วนใหญ่พระองค์จะทรงประดิษฐ์ขึ้นเอง ข้อความที่ปรากฏบน ส.ค.ส. พระราชทานนั้น ส่วนใหญ่สอดคล้องเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์บ้านเมืองในปีนั้นๆ แม้จะเป็นเพียงถ้อยคำสั้น ๆ แต่แฝงไปด้วยข้อคิด และคติเตือนใจที่ส่งผ่านไปยังปวงชนชาวไทยทุกคน และยังทรงมีพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงพระราชทานพรปีใหม่แก่ประชาชน และ สมเด็จพระสังฆราชประทานพรปีใหม่แก่พุทธศาสนิกชน และบุคคลสำคัญของบ้านเมือง
กิจกรรมที่นิยมทำในวันขึ้นปีใหม่
พิธีของราชการและประชาชนในวันขึ้นปีใหม่ ก็จะมีตั้งแต่คืนวันที่ 31 ธันวาคม จนถึง วันที่ 1 มกราคม และยึดถือปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งในวันสิ้นปี หรือ 31 ธันวาคม จะมีการจัดงานรื่นเริง การจุดพลุเพื่อฉลองตอนรับเทศกาลปีใหม่ กันอย่างครึกครื้น รวมถึงตามแหล่งสถานที่ราชการอาจจะให้มีการแสดงมหรสพ และแสงสีเสียงต่างๆ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอีกมากมายที่หลายๆ คนได้ยึดถือและทำมาโดยตลอด จนแทบกลายเป็นธรรมเนียมคู่กับประเพณีวันปีใหม่ไปแล้ว
ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด
ก่อนวันขึ้นเทศกาลปีใหม่ ชาวบ้านส่วนใหญ่จะทำการปัดกวาดบ้านเรือนของตัวเองให้สะอาด รอบๆบริเวณบ้าน พรอมกับทำการตกแต่งบ้านเรือนให้สวยงาม หรืออาจจะเปลี่ยนมุมบ้านใหม่ ทาสีบ้านใหม่ เพื่อความเป็นสิริมงคล รวมถึงการประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนอีกด้วย
การทำบุญตักบาตร
การทำบุญตักบาตรซึ่งอาจจะตักบาตรที่บ้าน ที่วัดหรือตามสถานที่ต่างๆที่ทางราชการได้มีการประกาศเชิญชวนให้ไปร่วมทำบุญทำบุญตักบาตรโดยอาจนิมนต์มาพระมาจากหลายๆ ที่จำนวนมาก เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสทำบุญ หรือทำกุศลอื่นๆ กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติและผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว หรือการไปวัดเพื่อทำบุญ ถือศีล ปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา ฯลฯ เพื่อให้จิตใจสดชื่น นอกจากนี้อาจทำทานด้วยการปล่อยนก ปล่อยปลา ก็ได้เช่นกัน
การกราบขอพรจากผู้ใหญ่
การกราบขอพรจากผู้ใหญ่ในวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้เกิดความเป็นสวัสดิมงคลแก่ตัวเองและครอบครัว รวมถึงการมอบของขวัญ ช่อดอกไม้ หรือการส่งบัตรอวยพร(ส.ค.ส.) แก่ฐาติผู้ใหญ่ เพื่อนบ้าน หรือเพื่อนฝูง ก็ถือเป็นธรรมเนียมในวันปีใหม่ ซึ่งวันนี้อาจจะกลายเป็นวันดี เพราะเป็นวันรวมญาติพี่น้อง ได้มาเห็นหน้าเห็นตากันครบ ถือเป็นสิ่งดีๆที่เกิดขึ้น
การจัดงานรื่นเริง
การจัดเลี้ยงในหมู่เพื่อนฝูง หรือจัดเลี้ยงในหมู่ญาติพี่น้อง เพราะมีการรวมญาติ และตามหน่วยงานต่าง ๆที่มีการจัดงานรื่นเริงแสงสีเสียง เพื่อให้คนที่มาร่วมงานมีความสุขในช่วงคืนวันส่งท้ายปีใหม่ ถือเป็นกิจกรรมร่วมนับถอยหลังเพื่อก้าวสู่วันใหม่ ในค่ำคืนวันที่ 31 ธันวาคม โดยส่วนใหญ่จะเน้นการจุดพลุเพื่อฉลองความยิ่งใหญ่และต้อนรับปีใหม่ที่จะถึงในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า
นอกจากนี้อาจจะยังมีกิจกรรมอีกมากมาย อย่างการเยี่ยมเด็กตามสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือ บ้านพักคนชรา รวมถึงทำบุญที่ โรงพยาบาลสงฆ์ สำหรับพระที่กำลังอาพาธ และผู้ที่ด้อยโอกาสต่างๆ การทำกิจกรรมที่เป็นกุศลก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของการทำสิ่งดีๆ เพื่อรับปีใหม่และเสริมความเป็นสิริมงคลชีวิตให้กับตัวเองเช่นกัน
ข้อควรระวังในวันปีใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้น
เทศกาลวันวันปีใหม่ ถือว่าเป็นเทศกาลที่มีวันหยุดยาว ซึ่งใครหลายๆคนกำลังเฝ้ารอคนต่างจังหวัดที่อาจจะร้องเฮและเตรียมแพ็คกระเป๋าเดินทางกลับบ้าน ซึ่งพนักงานบางบริษัท อาจจะได้โบนัสขวัญถุงให้เป็นขวัญและกำลังใจในการทำงานปีต่อๆไป แต่เรื่องดีๆ มักจะเกิดขึ้นพร้อมกับเรื่องร้ายๆเสมอ เพราะในช่วงที่คุณพากันเดินทางไปเที่ยว โดยปิดบ้านทิ้งไว้ แม้จะทำเรื่องฝากบ้านไว้กับตำรวจ แต่โจรก็คือโจรที่อาศัยช่วงปลอดคนนี้ล่ะจัดการเรื่องร้ายๆซะเลย ซึ่งก็ยังคงมีข้อระวังอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการโจรกรรมนี้อีกมากมายในวันปีใหม่ที่คุณๆ จะต้องระวังกันโดยเฉพาะเรื่องอุบัติเหตุ
แนวทางการส่งเสริมงานวันปีใหม่
เพื่อให้ประเพณีปีใหม่ ได้อยู่คู่กับคนไทยไปตลอดชั่วลูกชั่วหลาน การส่งเสริมประเพณีไทยๆ อย่างเทศกาบปีใหม่ จึงถือเป็นสิ่งที่ดีที่น่าจะมีการสืบทอดประเพณีนี้ให้คงอยู่ต่อไป
สวดมนต์ข้ามปี
สำหรับการสวดมนต์ข้ามปี เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่มีการปฏิบัติจนกลายเป็นธรรมเนียมของทุกปีๆไปแล้ว และเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ ทำให้จิตใจสงบและดีต่อสุขภาพกายและจิตอีก ช่วยให้จิตเป็นสมาธิ ผู้สวดต้องสำรวมใจแน่วแน่ มิฉะนั้นจะสวดผิดท่อนผิดทำนอง เมื่อจิตเป็นสมาธิความสงบเยือกเย็นในจิตจะเกิดขึ้น เป็นการตัดความเห็นแก่ตัว เพราะในขณะนั้นอารมณ์จะไปหน่วงอยู่ที่การสวดมนต์อย่างตั้งใจ ไม่ได้คิดถึงตัวเอง ความโลภ โกรธ หลง ถือเป็นสิริมงคล แก่ชีวิต
ปลุกจิตสำนึกของคนท้องถิ่น
การอนุรักษ์วัฒนธรรมและประเพณี โดยการปลุกจิตสำนึกให้คนในท้องถิ่นให้ตระหนักถึงคุณค่า และความสำคัญของวันสำคัญอย่างเทศกาลวันขึ้นปีใหม่ ด้วยการสนับสนุนการจัดกิจกรรมตามประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ การทำบุญตักบาตร และสร้างจิตสำนึกของความเป็นคนท้องถิ่นนั้นๆ เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยและท้องถิ่น เพื่อให้เด็กรุ่นหลังได้ยึดถือและปฏิบัติ เพื่อสืบทอดประเพณีนี้ต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น
ส่งเสริมประเพณีไทย
วันปีใหม่ที่มักจะมีกิจกรรมมากมาย ทั้งตักบาตร ทำบุญ และปล่อยนก ปล่อยปลา หรือ ปล่อยเต่า รวมถึงการเข้าวัดฟังธรรม ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมประเพณีไทยๆ ให้คงอยู่คู่กับชาวไทยไปตลอด การปลูกฝังลูกหลานตั้งแต่เด็กๆ จะเป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้รุ่นลูกๆตัวน้อย ได้ทำการเรียนรู้ เข้าใจ และสัมผัสกับสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะทำให้เป็นการยึดถือและจะนำไปปฏิบัติในอนาคต แบบสืบทอดต่อไป ซึ่งวิธีนี้จะไม่ทำให้ประเพณีสูญหาย และยังคงอยู่คู่ชาวไทยต่อไป
ทำกิจกรรมร่วมกัน
เพราะก่อนปีใหม่หรือช่วงเทศกาลปีใหม่ หลายบ้านที่มักจะทำกิจกรรมต่างๆ ปัดกวาด เช็ดถู ไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่เพื่อขอพร การได้ให้ลูกหลานเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ จะช่วยทำให้มีการปลูกฝังสิ่งดีๆ ของปีใหม่ทุกๆปี ซึ่งเมื่อได้ทำเป็นประจำก็จะเกิดความเคยชินกับกิจกรรมที่ดีๆ พวกเขาเหล่านั้น รูจะสึกภาคภูมิใจ แล้วเขาจะเฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อว่า เมื่อไหร่จะได้เข้ามามีส่วนร่วมอีกครั้ง กับการได้อนุรักษ์ประเพณี ที่ดีงาม เมื่อเติบโตขึ้นมา ก็จะทำในสิ่งที่พ่อแม่ทำ เพราะเป็นสิ่งที่ดีที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กนั่นเอง
จะเห็นได้ว่า เทศกาลวันปีใหม่ที่ใครๆต่างเฝ้ารอมาเป็นปีๆ เพื่อที่จะเริ่มต้นและทำสิ่งดีๆ ที่จะเกิดขึ้นในรอบปีต่อๆไป ถึงแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ การได้ทบทวนเรื่องเก่าๆ ที่เคยทำไว้ไม่ดี แล้วลองนำมาปรับปรุง เพื่อชีวิตและจิตใจที่ดียิ่งขึ้น รวมถึงการอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงาม ที่จะทำให้ลูกหลานได้ช่วยกันสืบสานต่อไป