ตรวจสอบวันเดือนปีเกิดตามปฏิทินสุริยคติ - จันทรคติ


เพื่อความเข้าใจเรื่องเวลาเกิด วันเกิด การเปลี่ยนปีนักษัตร ที่ใช้ในทางโหราศาสตร์ โปรดอ่านข้อมูลด้านล่างนี้โดยละเอียด
ในการพยากรณ์ทางโหราศาสตร์ พิธีกรรม หรือศาสตร์โบราณของไทย ที่ต้องใช้วันเดือนปีเกิดตามปฏิทิน บ่อยครั้งมีความสับสนว่าเกิดวันใด เพราะบางครั้งวันเกิดตามโหราศาสตร์ที่ผู้พยากรณ์ใช้ตั้งต้น ไม่ตรงกับวันเกิดปีเกิดตามสูติบัตร ปฏิทิน หรือตามที่เข้าใจ

ถ้าย้อนไปประมาณ 100 กว่าปี ประเทศไทยยังใช้ปฏิทินจันทรคติอยู่ ชื่อเดือน มกราคม ยังไม่มีใครรู้จัก ผู้คนยุคจะรู้จักวันแรมค่ำ เดือนอ้ายยี่ ปีชวด ฉลู เท่านั้น คนรุ่นปู่ย่า รุ่นทวดจะจำวันเกิด เช่น วันศุกร์ เดือนยี่ ปีกุน และหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงเริ่มใช้วันเดือนปีตามสากล วันทางจันทรคติก็เหลือใช้เฉพาะกลุ่มเช่น ทางโหราศาสตร์ พิธีกรรม ศาสนา ส่วนอื่น ๆใช้ปฏิทินสุริยคติแบบสากลเกือบทั้งหมด

หากจะใช้ตำราโหราศาสตร์ พิธีกรรม แบบเก่าก็ควรต้องเข้าใจหลักปฏิทินแบบเก่าด้วย จะนำเงือนไขปฏิทินสุริยคติปัจจุบันมาใช้ไม่ได้ ต้องเปรียบเทียบหาวันเวลาที่ถูกต้องก่อนใช้ สำหรับความเข้าใจในเรื่องการใช้ปฏิทินสุริยคติและจันทรคติ หลักเกณฑ์ที่แตกต่างกัน แบ่งเป็น 2 เรื่องหลัก ๆ ดังนี้

1. วันเวลาเกิด

ครั้งโบราณไม่มีนาฬิกา การนับวัน จะถือเอาเวลาพระออกบิณฑบาต คือเวลาเช้า สามารถมองเห็นลายมือบนฝ่ามือชัดเจนด้วยตาเปล่า(ไม่ใช้แสงไฟช่วย) หรือเห็นลายใบไม้ชัดเจน ให้นับเป็นวันใหม่ ซึ่งก็คือใช้เวลาดวงอาทิตย์ขึ้น หรือประมาณเวลา 06.00น. เป็นเกณฑ์ในการเปลี่ยนวันใหม่

ดังนั้นการนับรอบวันที่ใช้ในทางโหราศาสตร์ พิธีกรรม ศาสตร์โบราณต่าง ๆ ของไทย จะใช้ปฏิทินจันทรคติไทย โดยถือรอบวันตามดวงอาทิตย์ขึ้นเป็นหลัก คือ เวลาดวงอาทิตย์ขึ้น หรือตั้งแต่เวลา 06.00น.-05.59น.(ก่อนอาทิตย์ขึ้นอีกวัน) แตกต่างจาก รอบวันตามสากลซึ่งปฏิทินสุริยคติ หรือเป็นแบบที่ใช้ในสูติบัตร รอบวันจะเริ่ม 00.01น.- 24.00น.

การนับรอบวันจันทรคติจะใช้แบบนั้นทั้งหมด จะมีวันพุธที่แยกย่อยคือ เกิดวันพุธ ช่วงเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น ถึง ดวงอาทิย์ตก ประมาณเวลา 06.00น.-17.59น. จะเรียกว่า วันพุธกลางวัน หากเกิดช่วงเวลาหลังดวงอาทิย์ตกในวันพุธ ถึง ก่อนอาทิตย์ขึ้นวันรุ่งขึ้น(พฤหัสบดี) ประมาณเวลา 18.00น.-05.59น. จะเรียกว่า วันพุธกลางคืน หรือ วันราหู

ตัวอย่าง เกิดวันอาทิตย์ก็ จะเริ่มนับจากเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น หรือ 06.00น. ของเช้าวันอาทิตย์ไปจนถึง เวลา เวลาก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นของอีกวันหนึ่ง หรือ เวลาประมาณ 05.59น.ของวันจันทร์ ยังคงนับเป็นวันอาทิตย์อยู่ เมื่อเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น หรือ เวลา 06.00น. ของเช้าวันจันทร์เมื่อใด ถือเป็นวันจันทร์



เช่น ตามสูติบัตร บอกว่าท่านเกิดอาทิตย์เวลา 04.13น. แต่เมือนับตามปฏิทินจันทรคติไทยถือว่าเป็นวันเสาร์อยู่ เพราะยังไม่เลยเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น หรือ 06.00น. ซึ่งเป็นช่วงย่างเข้าวันอาทิตย์จริง ๆ ตามจันทรคติ , ตามสูติบัตร บอกว่าท่านเกิดพฤหัสบดีเวลา 05.13น. แต่เมือคิดตามหลักปฏิทินจันทรคติถือว่าเป็นวันพุธอยู่ เพราะยังไม่เลยเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น หรือ 06.00น. และเป็นวันพุธกลางคืน เพราะอยู่ช่วงเวลาหลังดวงอาทิย์ตกในวันพุธ ถึง ก่อนอาทิตย์ขึ้นวันรุ่งขึ้น(พฤหัสบดี) 18.00น.-05.59น.

สรุปเป็นหลักการง่าย ๆ ก็คือ หากเวลาเกิดตามสูติบัตร อยู่ระหว่าง หลังเที่ยงคืนถึง ก่อนเวลาดวงอาทิตย์ขึ้น หรือ 06.00น. สูติบัตรบอกว่าเกิดวันอะไรให้ย้อนมาหนึ่งวัน ก็จะได้วันทางจันทรคติ ที่ใช้สำหรับโหราศาสตร์ แต่หากเวลาเกิดตามสูติบัตรอยู่ช่วงเวลาอื่นใช้วันจันทรคติ แบบเดียวกับสูติบัตรได้เลย ยกเว้น วันพุธกลางคืน ให้ดูเงื่อนไขเพิ่มเติมข้างต้น

นอกจากนี้ยังมีการตัดวันอีกแบบที่ใช้ เวลาดวงอาทิตย์ขึ้นจริงของวันนั้น ๆ ณ สถานที่เกิด

2. ปีนักษัตร

ปีนักษัตรไทย การเปลี่ยนปีนักษัตรไทย (ชวด,ฉลู,ขาล,เถาะ) มีหลายแบบ เช่น เปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย (๑) ตามปฏิทินหลวง เป็นแบบที่ใช้ในการบันทึกสูติบัตรปัจจุบัน (แนวทางปฏิบัติตาม หนังสือเวียนกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0310.1/ว4 ออกเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2539) , เปลี่ยนปีนักษัตรในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า(๕) ตามคติพราหมณ์ - ฮินดู ใช้ในการพยากรณ์ทางโหราศาสตร์แบบไทย ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากพราหมณ์ - ฮินดู (ช่วงเวลาเปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ตามสูติบัตร จะไม่ตรงกันกับแบบคติพราหมณ์ ) 

เปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ในวันเถลิงศก ช่วงวันที่ 15-17 เมษายน , เปลี่ยนปีนักษัตรใน วันสังขารล่อง  หรือ วันสงกรานต์ ตามแบบทางภาคเหนือ , เปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ในวันที่ 1 มกราคม ตามปฏิทินของ อ.ทองเจือ อ่างแก้ว , เปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ในวันที่ 1 เมษายน ตามปฏิทินของ อ.เทพย์ สาริกบุตร

ปีนักษัตรจีน โหราศาสตร์จีนเปลี่ยนปีนักษัตรในวันสารทลิบชุน (立春) ซึ่งเป็นสารทแรกของปี เริ่มต้นนักษัตรใหม่ ขวบปีใหม่ ตามกฎเกณฑ์ปฏิทินจีนโบราณ ก่อนที่คณะปฏิวัติปกครองสถาปนาสาธารณรัฐจีน (พ.ศ.2455) มีประกาศเปลี่ยนแปลงปฏิทินใหม่ ดู ปฏิทินจีน ปีนั้น ๆ และมีใช้วันตรุษจีนเป็นวันเปลี่ยนปีนักษัตร

เลือกใช้ปีนักษัตรแบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับว่าใช้ทำอะไร เช่น บันทึกสูติบัตร ใช้ปีนักษัตรตามปฏิทินหลวง เปลี่ยนปีนักษัตรในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย(๑) , พยากรณ์ทางโหราศาสตร์ต่าง ๆ ของไทย ใช้ปีนักษัตรตามคติพราหมณ์ - ฮินดู เปลี่ยนปีนักษัตรในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า(๕) , พยากรณ์โหราศาสตร์จีน ดูดวงจีนโป๊ยหยี่สี่เถี่ยว (八字四柱) ดูหลักปี ปีชง ปีฮะ ใช้ปีนักษัตรจีนตาม ปฏิทินจีน เป็นต้น ... อ่านต่อ

เฉพาะท่านที่เกิดช่วงเวลาประมาณ 05:30-07:00น. หรือเกิดในวันพุธช่วงเวลาประมาณ 17:30-19:00น. โดยเงื่อนไขข้างต้นอาจอยู่ระหว่างเปลี่ยนวัน หากใช้วันนั้น ๆ ตั้งต้นพยากรณ์แล้วไม่ตรงตัวท่าน ให้ตรวจสอบเพิ่มเติมเรื่องวันเกิด


* สูติบัตร เป็นเอกสารทางราชการเพียงอย่างเดียว มีบันทึกวันเกิดแบบจันทรคติ แต่ก็ไม่ถูกใช้ที่ไหนเลย ไม่มีแบบฟอร์มราชการหรือเอกชนที่ไหนให้กรอกว่า เกิดกี่ค่ำ เดือน ปีนักษัตรอะไร เว้นแต่ตอนดูดวง พิธีกรรมบางอย่างเท่านั้น ก่อนหน้ามีประกาศ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2539 สูติบัตรถูกบันทึกหลายแบบ ขึ้นอยู่กับส่วนปกครองนั้น ๆ หรือผู้บันทึก ไม่ตรงกันมีหลายแบบ เช่น เปลี่ยนปีนักษัตรใน ๑ ค่ำ เดือนห้า(๕) , วันตรุษจีน , วันที่ 1 เมษายน , วันที่ 13 เมษายน หรือ วันที่ 1 มกราคม ตามปฏิทินสากลที่พิมพ์ก็มี ซึ่งถ้าเกิดช่วงเดือนนั้น ๆ ปีนักษัตรอาจต่างกัน ดังนั้นบ่อยครั้งตอนดูดวง หมอดูหรือนักพยากรณ์จะถาม วันเดือนปี เวลาเกิดทางสุริยคติสากลที่มีบันทึกในสูติบัตร แล้วนำมาเทียบในปฏิทินจันทรคติให้เอง คือไม่ดู แรมค่ำ เดือน ปีนักษัตรจากสูติบัตร ซึ่งก็ไม่แปลกที่นักษัตรตั้งต้นทำนายไม่ตรงกับสูติบัตรหรือที่เราเข้าใจ และหมอดูหรือนักพยากรณ์มักจะไม่อธิบายเพราะเรื่องนี้ค่อนข้างซับซ้อนใช้เวลาอธิบาย

หากท่านเข้าใจข้อกำหนดด้านบนแล้ว ท่านสามารถตรวจสอบวันเดือนปีเกิดตามปฏิทินจันทรคติไทย ได้โดยกรอกข้อมูลวันเกิดด้านล่างเลยครับ

ชื่อ-สกุล :
วันเดือนปี :
เวลา [1] :
น.
วันจันทรคติ นับจาก :
[1] เวลาเกิด หากไม่ทราบ ให้เลือกเวลาประมาณเป็นช่วงก่อนหรือหลังดวงอาทิตย์ขึ้น (มีผลต่อการทำนาย)

อ่าน ใช้งาน ตรวจสอบวันเดือนปีเกิด แล้ว เขียนรีวิว และคลิก Like , Share ให้ด้วยนะครับ :)   5.00 จาก 660 รีวิว