วันขึ้นปีใหม่ของไทย
วันที่ 1 มกราคมของทุกปี ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ อันเป็นการนับแบบสากล ที่เหมือนกันทุกประเทศในปัจจุบัน ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “ปี” ว่าหมายถึง เวลาชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่งราว 365 วัน : เวลา 12 เดือนตามสุริยคติ
ในหนังสือวันสำคัญฯ ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ได้บอกถึงความเป็นมาของวันปีใหม่สรุปได้ว่า ครั้งโบราณการนับวันขึ้นปีใหม่ของแต่ละชาติ จะกำหนดขึ้นตามความนิยมและความคิดเห็นของชนชาตินั้น ๆ มิได้เป็นวันเดียวกันเช่นปัจจุบัน ในส่วนของไทยก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงวันขึ้นปีใหม่เป็น 4 ระยะคือ
เริ่มแรกตามจารีตของไทยแต่โบราณได้ถือเอาวันแรม ๑ ค่ำเดือนอ้าย(๑) เป็นวันขึ้นปีใหม่ เหมือนหลาย ๆ ชาติที่ถือว่าฤดูเหมันต์หรือฤดูหนาวเป็นการเริ่มต้นปี ด้วยว่าคนสมัยก่อนเห็นว่าฤดูหนาว เป็นช่วงผ่านพ้นจากฤดูฝนอันมืดครึ้ม สว่างเหมือนเวลาเช้า ส่วนฤดูร้อนเป็นช่วงที่สว่างเหมือนเวลากลางวัน และฤดูฝนเป็นเวลามืดหม่นคล้ายกลางคืน เขาจึงนับฤดูเหมันต์หรือซึ่งมักตรงกับเดือนอ้ายที่สว่างเหมือนเวลาเช้าเป็นต้นปี นับช่วงฤดูร้อนเป็นกลางปีและฤดูฝนเป็นปลายปี
ต่อมาในระยะที่สอง เราได้มีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันขึ้น ๑ ค่ำเดือนห้า(๕) คือราวช่วงสงกรานต์ อันเป็นการเปลี่ยนจารีตไปตามคติพราหมณ์ที่นับวันตามจันทรคติ โดยใช้ปีนักษัตรและการเปลี่ยนจุลศักราชเป็นเกณฑ์
ระยะที่สาม ในสมัยรัชกาลที่ 5 เราก็ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 เมษายนอันเป็นนับวันทางสุริยคติ ซึ่งได้ประกาศใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2432
ระยะที่สี่ คือในปี พ.ศ.2483 รัฐบาลได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ไทยให้เป็นไปตามแบบสากลนิยม คือวันที่ 1 มกราคม ซึ่งมีเหตุผลว่าวันดังกล่าวกำหนดขึ้นโดยการคำนวณด้วยวิทยาการทางดาราศาสตร์ และเป็นที่นิยมใช้กันมากว่าสองพันปี อีกทั้งไม่เกี่ยวข้องกับลัทธิศาสนา หรือการเมืองของชาติใด แต่สอดคล้องกับจารีตประเพณีของไทยแต่โบราณที่ใช้ฤดูหนาวเป็นต้นปี ดังนั้น เราจึงมีวันขึ้นปีใหม่ตรงกับนานาประเทศ เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2484เป็นต้นมา (ปี พ.ศ.2483 เราจึงมีแค่ 9 เดือนและปี พ.ศ.2484 มี 12 เดือน จากนั้นปีต่อ ๆ มาก็มีปีละ 12 เดือนตามปรกติ)
อนึ่ง การนับวันเดือนปีแบบโบราณ ที่เรียกว่า “จันทรคติ” (ซึ่งเรียกวันขึ้น /วันแรม ๑ ค่ำ ๒ ค่ำ ฯลฯ ) นี้อาจารย์สมบัติ จำปาเงินได้กล่าวในหนังสือ “ประทีปความรู้คู่ไทย” ว่าเป็นการนับวันเดือนปีโดยถือการโคจรของดวงจันทร์รอบโลกเป็นหลัก โดยปีที่มี 354 วัน เรียกว่า “ปีจันทรคติปรกติ” แต่ถ้าปีไหนเป็น “ปีอธิกวาร” ก็จะมี 355 วัน และถ้าปีไหนเป็น “ปีอธิกมาส” คือมีเดือนแปดสองหน ก็จะมี 384 วัน
การที่มีอธิกวารวารและอธิกมาส (อธิก อ่านว่า อะทิกกะ แปลว่า เกิน/เพิ่ม และวาร คือ วัน มาสคือเดือน) เพิ่มขึ้นในบางปีนั้น เป็นการชดเชยวันที่ขาดหายไป ด้วยว่าเมื่อเรานับวันตามสุริยคติในเวลาต่อมา (คือการนับวันเดือนปี ตามระยะเวลาที่โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งรอบหนึ่ง ๆ จะใช้เวลา 365 วัน 5 ชม. 49 นาที) ก็จะทำให้ปีสุริยคติและปีทางจันทรคติต่างกันถึงปีละ 10 - 10 วันเศษ ซึ่งหากไม่มีการชดเชยเพิ่มวันและเดือนทางจันทรคติแล้ว นานไปก็จะทำให้การนับวันเดือนปีคลาดเคลื่อนผิดไป
ดังสมัยโรมัน เมื่อจูเลียส ซีซาร์เรืองอำนาจ ปรากฏว่าการนับวันเดือนปีทางจันทรคติได้คลาดไปจากความเป็นจริงถึง 3 เดือน ฤดูกาลแทนที่จะเป็นฤดูหนาวกลับยังเป็นฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งผิดจากสภาพความเป็นจริง จูเลียส ซีซาร์ จึงให้ยกเลิกการนับตามจันทรคติและหันมาใช้การนับทางสุริยคติแทน โดยมีการคำนวณขยายปีออกไป ให้ระยะเดือนและฤดูตรงกับความเป็นจริง คือให้มี 365 กับ 1/4 วัน แต่เพื่อความสะดวกแก่การนับ จึงกำหนดใหม่ให้ปีปรกติมี 365 วัน ซึ่งขาดไป 6 ชม.หรือ 1/4 วัน พอครบ 4 ปี ก็เพิ่มอีกวัน เรียกว่า ปีอธิกสุรทิน ซึ่งปีนั้นจะมี 366 วัน
ซึ่งการนับวันเดือนเช่นนี้ เป็นการนับตามปฏิทินระบบซีซาร์ที่ประกาศใช้เมื่อ 1 มกราคม พ.ศ.497 โดยได้กำหนดให้เดือนต่าง ๆ มี 31และ 30 วันสลับกันไป เว้นแต่เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วันแต่ถ้าเป็นปีอธิกสุรทิน จึงเพิ่มเป็น 30 วัน
ครั้นสมัยจักรพรรดิออกุสตุสก็ได้มีการปรับปรุงปฏิทินใหม่เรียกว่าแบบยูเลียน กำหนดให้เดือนหนึ่งมี 30 วันและมีวันเพิ่มอีก 5 วัน เรียกอธิกวาร ลดกุมภาพันธ์เหลือ 28 วัน ปีไหนเป็นปีอธิกสุรทินจึงมี 29 วัน และไปเพิ่มวันในเดือนสิงหาคม จาก 30 วันเป็น 31 วัน ซึ่งแม้จะสะดวกแต่ก็มีข้อบกพร่องที่ทำให้วันเวลาผิดไปจากความเป็นจริง คือทุก 128 ปี วันจะเกินจริงไป 1 วัน ซึ่งหากปล่อยนานไป วันเวลาก็จะผิดมากขึ้นแน่นอน
ดังนั้น ในปี พ.ศ.2125 สันตะปาปา เกรกอรี่ที่ 33 แห่งโรม ก็ได้ประกาศเลิกใช้ปฏิทินแบบยูเลี่ยน และให้มาใช้แบบเกรกอเรียนแทน โดยกำหนดเพิ่มจากปฏิทินยูเลี่ยนว่าหากปีใดตรงกับปีศตวรรษ เช่น ค.ศ.1700 ค.ศ.1800 ฯลฯ ห้ามมิให้เป็นปีอธิกสุรทิน ยกเว้นว่าปีนั้นจะหารด้วย 400 ลงตัว เช่น 1600, 2000, 2400 ฯลฯ จึงจะให้เป็นปีอธิกสุรทินเหมือนเดิม ซึ่งการกำหนดเช่นนี้ทำให้วัน เดือนปี แม้จะคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่ก็ต้องใช้เวลากว่าสามพันปี จึงจะผิดไป 1 วัน ดังนั้น ปฏิทินเกรกอเรียนจึงเป็นที่นิยมใช้กันทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน
สำหรับประเทศไทย ได้มีการใช้ปฏิทินแบบใหม่ตามสุริยคติอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.2432 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งแม้เราจะใช้ปฏิทินทางสุริยคติ แต่ก็ยังใช้การนับทางจันทรคติควบคู่ไปด้วย
การนับทางจันทรคติที่ถือการโคจรรอบโลกของดวงจันทร์ 12 ครั้ง 12 เดือนเป็นหนึ่งปีนั้น รอบหนึ่ง ๆ จะใช้เวลา 29 วันครึ่ง ดังนั้นในเวลา 1 เดือน หากนับเพียง 29 วัน เวลาก็จะขาดไป 12 ชม. แต่หากนับ 30 วันก็จะเกินไป 12 ชม.
ดังนั้น เขาจึงนับ 59 วันเป็นสองเดือนโดยให้นับเดือนคี่มี 29 วัน ส่วนเดือนคู่มี 30 วัน แต่ละเดือนจะแบ่งเป็น 2 ปักษ์ ๆ ละ 15 วันเรียกวันข้างขึ้นและข้างแรม (เดือนคี่นี้บางทีก็เรียกว่า เดือนขาด ได้แก่ เดือน 1 , 2, 5, 7, 9 และ 11 เป็นเดือนที่มีวันข้างขึ้น 15 วัน แต่วันข้างแรมมีเพียง 14 วันคือมีเพียงแรม 14 ค่ำ เท่านั้น ส่วนเดือนคู่หรือเดือนเต็มได้แก่ เดือน 2, 4, 6, 8 ,10 และ 12 คือ มีวันข้างขึ้นและวันข้างแรมอย่างละ 15 วัน เช่น ขึ้น 1 ค่ำเดือนยี่(๒) จนถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือนยี่(๒) และ แรม ๑ ค่ำเดือนยี่(๒)ถึงแรม ๑๕ค่ำเดือนยี่(๒)เป็นต้น
ซึ่งการนับทางจันทรคตินี้เมื่อนับวันกันจริง ๆ แล้ว ปรากฏว่าปีจันทรคติจะมีแค่ 354 วัน น้อยกว่าวันทางสุริยคติถึง 11 วัน ซึ่งโลกเราก็ยังโคจรไม่ครบรอบดวงอาทิตย์ ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการเพิ่มอธิกมาส คือเพิ่มเดือนแปดอีกเดือน ที่ชาวบ้านเรียกแปดสองหน ในรอบ 2 - 3 ปี
ส่วนอธิกวารจะเป็นการเพิ่มวันในเดือนเจ็ด(๗) อีก 1 วันทำให้เดือนเจ็ด(๗)ปีนั้นเป็นเดือนพิเศษ คือมีวันแรม ๑๕ ค่ำด้วย ซึ่งปรกติเดือนคี่จะมีแค่ ๑๔ ค่ำเท่านั้น การเพิ่มดังกล่าวเป็นการคำนวณเพื่อให้ตรงกับฤดูกาลที่ปรากฏจริงของโลกนั่นเอง
ส่วนการนับทางสุริยคติก็คือการนับวัน เวลาตามวิถีโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ จะบอกเป็นวัน เดือน และปีศักราช เช่น วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2548 หรือ ค.ศ.2005 เป็นต้น
โดยทั่วไป มวลมนุษย์ทุกชาติทุกภาษา ต่างก็มีความเชื่อที่สอดคล้องกันในเรื่องการขึ้นปีใหม่ว่าเป็นช่วงที่ดีแห่งการเริ่มต้น และการรับสิ่งใหม่ที่มงคลแก่ชีวิตเข้ามา จึงมักมีงานรื่นเริงเฉลิมฉลองเพื่อต้อนรับเทศกาลปีใหม่อย่างสนุกสนาน
โดยเฉพาะคนไทยเรา นอกจากวันที่ 1 มกราคมอันเป็นปีใหม่แบบสากลแล้ว ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เรายังถือเป็นวันปีใหม่แบบไทยอีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้เราได้เริ่มต้นสิ่งใหม่ที่ดี ๆ ถึงปีละ 2 ครั้ง จึงควรที่คนไทยเราทุกคนจะได้ใช้ฤกษ์ดังกล่าวตั้งจิตอธิษฐานที่จะรักตัวเราเองให้มากขึ้น ด้วยการบำรุงรักษาตัวเราให้ดีทั้งกาย วาจาและใจ และเผื่อแผ่ความรักนี้ไปยังเพื่อนร่วมโลกอื่น ๆ เพื่อโลกเราใบนี้จะได้เป็นโลกที่น่าอยู่ต่อไป
สวัสดีวันปีใหม่พา
ให้บรรดาเราท่านรื่นรมย์
ฤกษ์ยามดีเปรมปรีดิ์ชื่นชม
ต่างสุขสมนิยมยินดี
ข้าวิงวอนขอพรจากฟ้า
ให้บรรดาปวงท่านสุขศรี
โปรดประทานพรโดยปราณี
ให้ชาวไทยล้วนมีโชคชัย
ให้บรรดาปวงท่านสุขสันต์
ทุกวันทุกคืนชื่นชมให้สมฤทัย
ให้รุ่งเรืองในวันปีใหม่
ผองชาวไทยจงสวัสดี
ตลอดปีจงมีสุขใจ
ตลอดไปนับแต่บัดนี้
ให้สิ้นทุกข์สุขเกษมเปรมปรีดิ์
สวัสดีวันปีใหม่เทอญ
ที่มา/อ้างอิง/ผู้เขียน : อมรรัตน์ เทพกำปนาท
หมายเหตุ : เนื้อหาข้างต้นสร้างขึ้นโดยบุคคลทั่วไปจากแหล่ง URL เผยแพร่แก่สาธารณะเพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเท่านั้น
บันทึก/เผยแพร่ : วันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ.2552
อ่าน ใช้งาน
วันขึ้นปีใหม่ของไทย แล้ว
เขียนรีวิว และคลิก Like , Share ให้ด้วยนะครับ :)
N/A
★ จาก
N/A รีวิว