วันพืชมงคล
เกษตรกรนับล้านคนที่ไม่มีโอกาสได้ไปที่ท้องสนามหลวง เพื่อดูการเสี่ยงทายของพระโค ในพระราชพิธีพืชมงคล หรือ วันแรกนาขวัญ ต่างพากันเฝ้าดูการถ่ายทอดสดทางหน้าจอทีวี ที่มีการถ่ายทอด และคอยลุ้นว่า ปีนี้พระโคจะกินอะไร ซึ่งแม้จะเป็นการเสี่ยงทาย แต่ก็มักจะเห็นผลตามคำทำนายเสมอ ซึ่งหลังจากเสร็จพิธี อีกอย่างหนึ่งที่เราจะได้เห็นคือ ประชาชนที่ไปร่วมในพิธี ต่างพากันเข้าไปแย่งเมล็ดข้าวกันอย่างอุตลุด และนั่นหมายถึงว่า บัดนี้ฤดูกาลแห่งการทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว
ความหมายของวันพืชมงคล
พืชมงคลคือ ชื่อพระราชพิธีที่พระสงฆ์สวด พืชพันธุ์ธัญญาหาร เพื่อความเจริญเติบโตและเป็นเมล็ดพันธ์ที่ดี ซึ่งเรียกกันว่า พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพระราชพิธีที่จะทำการก่อนพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ส่วนวันพืชมงคลนั้น หมายถึง วันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ซึ่งถือเป็นพระราชพิธีที่สืบทอดมาแต่โบราณ ที่จัดงานวันนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นสิริมงคลแด่พืชพันธ์ธัญญาหาร และบำรุงขวัญเกษตรกร ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นการเตือนให้ประชาชนเริ่มเพาะปลูกข้าวและพืชไร่อันเป็นธัญญาหารหลัก ที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของชาวไทย
วันพืชมงคลในประเทศไทย
ในประไทยนั้น พระราชพิธีพืชมงคลเป็นพิธีพุทธ มีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งตั้งขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎที่ทรงกำหนดให้มีขึ้นเป็นครั้งแรก กับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเป็นพิธีพราหมณ์ เป็นพิธีทำขวัญเมล็ดพืชพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ข้าวเปลือกเจ้า ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ข้าวเหนียว ถั่ว งา ฯลฯ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้เมล็ดพันธุ์เหล่านั้น ปราศจากโรคภัยและให้อุดมสมบูรณ์เจริญงอกงามดีมีการทำมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และต่อมามีการเรียกวันแรกนาขวัญว่าวันพืชมงคลซึ่งมีการจัดไม่ตรงกันทุกปี แล้วแต่ว่าทางสำนักพระราชวังจะเป็นผู้กำหนด และวันพืชมงคล ยังถือได้ว่าเป็น "วันเกษตรกรไทย" อีกด้วย ทั้งนี้เพื่อระลึกถึงความสำคัญของเกษตรกรรมไทย และยังถือว่าเป็นวันหยุดราชการเช่นกัน
วันที่ใช้ในการจัดงาน วันพืชมงคล
วันที่ใช้จัดงาน พืชมงคลซึ่งในแต่ละปีมีการจัดไม่ตรงกัน ทางสำนักพระราชวังจะเป็นผู้กำหนด
ปฏิทินวันพืชมงคล
วันพืชมงคล พ.ศ.2559 ตรงกับ วันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2559 / วันจันทร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีวอก
วันพืชมงคล พ.ศ.2560 ตรงกับ วันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2560 / วันศุกร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีระกา
วันพืชมงคล พ.ศ.2561 ตรงกับ วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2561 / วันจันทร์ แรม ๑๕ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีจอ
วันพืชมงคล พ.ศ.2562 ตรงกับ วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2562 / วันพฤหัสบดี ขึ้น ๖ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีกุน
วันพืชมงคล พ.ศ.2563 ตรงกับ วันจันทร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2563 / วันจันทร์ แรม ๕ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีชวด
วันพืชมงคล พ.ศ.2565 ตรงกับ วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2565 / วันศุกร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีขาล
วันพืชมงคล พ.ศ.2566 ตรงกับ วันพุธที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ.2566 / วันพุธ แรม ๑๓ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีเถาะ
วันพืชมงคล พ.ศ.2567 ตรงกับ วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2567 / วันศุกร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีมะโรง
วันพืชมงคล พ.ศ.2568 ตรงกับ วันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ.2568 / วันศุกร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีมะเส็ง
ประวัติวันพืชมงคล
เป็นพระราชพิธีที่มีมาแต่โบราณตั้งแต่ครั้งสุโขทัยเป็นราชธานี สำหรับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ หรือ พิธีแรกนา ซึ่งในสมัยนั้นพระมหากษัตริย์เสด็จไปเป็นองค์ประธานในพระราชพิธี ส่วนในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์ไม่ได้เสด็จไปเป็นองค์ประธาน เพราะทรงจำศีลเงียบ 3 วัน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้โปรดให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้ประกอบพระราชพิธีแรกนาขวัญแทนพระองค์ และมิได้ถือว่าเป็นพิธีหน้าพระที่นั่ง
ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดมีแรกนาขวัญ ทรงพระราชดำริโปรดให้มีพิธีสงฆ์ทางพระพุทธศาสนาร่วมประกอบในพิธีด้วยเพื่อ เป็นสิริมงคลแก่พืชพันธุ์ธัญญาหารที่นำเข้ามาตั้งในมณฑลพิธี แล้วจึงนำไปไถหว่านในการแรกนาขวัญ เรียกพระราชพิธีในตอนนี้ว่า พระราชพิธีพืชมงคล และมีการจัดรวมกับพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ โดยทรงเรียกรวมกันว่า "พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ" เพื่อรักษาบูรพประเพณี อันเป็นมิ่งขวัญของการเกษตรไว้สืบต่อไป สำนักพระราชวังและกระทรวงเกษตรจึงได้กำหนดงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนา ขวัญ ตามราชประเพณีเดิมขึ้นเมื่อ พ.ศ.2503 จนถึงปัจจุบัน
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญร่วมกับพิธีพืชมงคล เป็นพิธีเริ่มต้นการไถนาเพื่อหว่านเมล็ดข้าว โดยเป็นการให้สัญญาณว่า บัดนี้ฤดูกาลแห่งการทำนาและเพาะปลูกได้เริ่มขึ้นแล้ว พระราชพิธีทั้งสองนี้ ได้กระทำเต็มรูปแบบมาเรื่อย ๆ แม้จะว่างเว้นไป 10 ปี เพราะสถานการณ์บ้านเมืองไม่เอื้อต่อการจัดงาน แต่เพราะประเทศไทย เป็นประเทศกสิกรรม โดยเฉพาะการทำนาและชาวนาที่มีมากเกือบค่อนประเทศ จึงสมควรจะได้ฟื้นฟู ประเพณีเก่าอันเป็นมงคลแก่การเพาะปลูก โดยกำหนดให้มีราชพิธีจรดพระนาคัลแรกนาขวัญร่วมกับพิธีพืชมงคลนับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้จึงจัดให้เป็นวันสำคัญของชาติ
เมื่อได้มีการฟื้นฟูพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญขึ้นใหม่ จึงจัดให้มีขึ้นที่ท้องสนามหลวง พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปัจจุบันได้ดำเนินตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี เว้นแต่บางอย่างได้มีการดัดแปลงให้เหมาะสมกับกาลสมัย อาทิ พิธีของพราหมณ์ก็มีการตัดทอนให้เหลือน้อยลง พระยาแรกนาขวัญก็ให้ตกเป็นหน้าที่ของปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อเสร็จจากการไถแล้วพระโคก็จะได้รับการป้อนพระกระยาหารและเครื่องดื่ม 7 ชนิด คือ เมล็ดข้าว ถั่ว ข้าวโพด หญ้าเมล็ดงา น้ำ และเหล้า ไม่ว่าพระโคจะเลือกกินหรือดื่มสิ่งใด ก็ทายว่าปีนี้จะอุดมสมบูรณ์ด้วยสิ่งที่พระโคเลือกนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพระราชพิธีทุกปี มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และประชาชนจำนวนมากมาชมการแรกนาขวัญ
เมื่อเสร็จพิธีแล้ว ประชาชนจะพากันแย่งเก็บเมล็ดข้าวที่หว่านโดยพระยาแรกนา เพราะว่าเมล็ดข้าวนี้ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อันจะนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์และความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่มีไว้ในครอบครอง ชาวนาก็จะใช้เมล็ดข้าวนี้ผสมกับเมล็ดข้าวของตน เพื่อให้พืชผลในปีที่จะมาถึงนี้อุดมสมบูรณ์ หรือเก็บไว้เป็นถุงเงินเพื่อความเป็นสิริมงคล
กิจกรรมที่นิยมทำกันในวันพืชมงคล
มีการกำหนดให้วันพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญนี้เป็นวันเกษตรกรประจำปี เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน ซึ่งกิจกรรมที่เกี่ยวกับวันพืชมงคลมีอะไรบ้างนะ
ประดับธงชาติ
การร่วมประดับธงชาติตามบ้านเรือน และตามสถานที่ราชการทุกแห่ง ถือเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งของการร่วมพระราชพิธี พืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเพื่อเป็นสิริมงคล ในวันพืชมงคล ของทุกปี ทุกบ้าน และสถานที่ราชการจะใช้การประดับธงจากนั้นจึงค่อยร่วมทำกิจกรรมต่างๆ
การจัดนิทรรศการ
การจัดนิทรรศการ ตามสถานที่ราชการ โรงเรียน เพื่อให้เยาวชน หรือประชาชนทั่วไป ได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับพระราชพิธีสำคัญของชาวไทย เป็นการแสดงประวัติและความเป็นมาของวันพืชมงคล เพื่อให้ทุกคนได้ทราบถึงที่มา รวมถึงการได้รับรู้ว่าเป็นวันเกษตรกรอีกด้วย ซึ่งจะยิ่งทำให้ได้เข้าใจถึงชาวนา ที่กว่าจะปลูกข้าวให้เราได้แต่เมล็ด จะต้องผ่านขั้นตอนอย่างไรบ้าง
ชมการถ่ายทอดพระราชพิธีวันพืชมงคล
เพราะพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีที่สำคัญ อีกพิธีหนึ่งของชาวไทย เพื่อเสริมสร้างขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกรของชาติ และเป็นการระลึกถึงความสำคัญของเกษตรกรที่มีต่อเศรษฐกิจไทย อีกอย่างยังมีเกษตรกรอีกเกือบทั่วประเทศ ที่แม้ไม่ได้มาร่วมงาน แต่ก็เฝ้าดูถึงพระราชพิธีวันพืชมงคล พร้อมกับรอดูคำนายจากการเสี่ยงทายของพระโคอีกด้วย ว่าปีนี้การเกษตรจะเป็นไปในทางทิศใด
เข้าร่วมพระราชพิธีพืชมงคล ฯ
เข้าร่วมพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ณ บริเวณท้องสนามหลวง เป็นเรื่องที่เกษตรกรต่างเดินทางมาจากจังหวัดใกล้เคียงหรือมาจากต่างจังหวัด เพื่อมาชมพิธีนี้อย่างใกล้ชิด และเพื่อที่จะได้เก็บเมล็ดพันธ์ หลังจากเสร็จพิธี เพื่อนำไปผสมกับข้าวของตัวเอง และเพื่อความเป็นสิริมงคล จากการเก็บเมล็ดข้าวไว้
เพราะเป็นวันที่สำคัญอีกวันหนึ่ง การได้เข้าร่วมในพระราชพิธี หรือแม้แต่การระลึกถึงความสำคัญของเกษตรกรที่มีต่อชาวไทย ซึ่งการได้ทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นสิริมงคลอย่างหนึ่งของชีวิต