วันฉัตรมงคล
วันฉัตรมงคลเป็นอีกหนึ่งวันหยุดของทางราชการ เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของปวงชนชาวไทย ที่หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจความหมายของคำว่า ฉัตรมงคล ซึ่งวันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปี ได้จัดให้มีพระราชพิธีฉัตรมงคลขึ้น ซึ่งเป็นวันที่เกี่ยวข้องกับ พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นรัชกาลปัจจุบัน
ความหมายของวันฉัตรมงคล
ฉัตรมงคล (อ่านว่า ฉัด-ตระ-มง-คล) มีความหมายว่า พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตรสิริราชกกุธภัณฑ์ พระแสงประจำรัชกาล ซึ่งทำในวันที่ตรงกับวันบรมราชาภิเษกเสวยราชสมบัติตามราชประเพณี ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชซึ่งเป็นรัชกาลปัจจุบัน เพราะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 จึงได้มีการจัดพระราชพิธีฉัตรมงคลขึ้นทุกวันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งเป็นพิธีที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็นผู้ประกอบพระราชพิธีทุกๆปี
วันฉัตรมงคลในประเทศไทย
พระราชพิธีฉัตรมงคล (Coronation Day) ตรงกับวันที่ 5 พฤษภาคม เป็นวันเฉลิมฉลอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุยเดชฯ ที่ทรงกระทำพระราชิพิธีพระบรมราชาภิเษก เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์อันดับที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรีเป็นวันที่ประกอบพระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร ซึ่งตรงกับวันบรม ราชาภิเษก ในรัชกาลปัจจุบันตรงกับวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493
วันฉัตรมงคล เป็นวันที่ระลึกในการครบรอบปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับพระบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศสยามโดยสมบูรณ์ ซึ่งพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์สมบัติสืบต่อจาก สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชการที่ 8 ) เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 จากนั้นพระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ทวีปยุโรป แล้วเมื่อทรงบรรลุนิติภาวะจึงได้เสร็จกลับประเทศไทย ซึ่งทางรัฐบาลไทยได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระราชพิธีบรมราชาภิเษกถวาย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ทำให้เหล่าพสกนิกรชาวไทย ได้ถือเอาวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคลรำลึก
วันที่ใช้จัดงานวันฉัตรมงคล
วันที่ใช้จัดงานวันฉัตรมงคลคือ วันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปี
ปฏิทินวันฉัตรมงคล
วันฉัตรมงคล พ.ศ.2558 ตรงกับ วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2558 / วันอังคาร แรม ๓ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีมะแม
วันฉัตรมงคล พ.ศ.2559 ตรงกับ วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2559 / วันพฤหัสบดี แรม ๑๔ ค่ำ เดือนห้า(๕) ปีวอก
วันฉัตรมงคล พ.ศ.2562 ตรงกับ วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2562 / วันเสาร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีกุน
วันฉัตรมงคล พ.ศ.2563 ตรงกับ วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2563 / วันจันทร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีชวด
วันฉัตรมงคล พ.ศ.2564 ตรงกับ วันอังคารที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2564 / วันอังคาร แรม ๘ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีฉลู
วันฉัตรมงคล พ.ศ.2565 ตรงกับ วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2565 / วันพุธ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีขาล
วันฉัตรมงคล พ.ศ.2566 ตรงกับ วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2566 / วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีเถาะ
วันฉัตรมงคล พ.ศ.2567 ตรงกับ วันเสาร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2567 / วันเสาร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือนห้า(๕) ปีมะโรง
วันฉัตรมงคล พ.ศ.2568 ตรงกับ วันอาทิตย์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2568 / วันอาทิตย์ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีมะเส็ง
ประวัติของวันฉัตรมงคล
ยังเป็นคำที่สะท้อนและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ ในพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ซึ่งพสกนิกรชาวไทยจึงได้ถือเอาวันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันฉัตรมงคล เพื่อน้อมรำลึกถึงวันสำคัญนี้
ก่อนหน้ารัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีฉัตรมงคลถือเป็นพิธีของเจ้าพนักงานในพระราชฐาน ที่มีหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคและพระทวารประตูวัง ได้จัดการสมโภชสังเวยเครื่องราชูปโภคที่ตนรักษาทุกปีในเดือนหก(๖) และเป็นงานส่วนตัว ไม่ถือเป็นงานหลวง
วันบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2393 โดยมีพระราชดำริว่า วันบรมราชาภิเษกเป็นมหามงคลสมัยที่ควรแก่การเฉลิมฉลองในประเทศที่มีพระเจ้า แผ่นดิน จึงถือให้วันนั้นเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล และควรที่จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ แต่เนื่องจากเป็นธรรมเนียมใหม่ ยากต่อการเข้าใจ
อีกทั้งเผอิญที่วันบรมราชาภิเษกไปตรงกับวันสมโภชเครื่องราชูปโภคที่มีแต่ เดิม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงอธิบายว่า วันฉัตรมงคลเป็นวันสมโภชเครื่องราชูปโภค จึงไม่มีใครติดใจสงสัย
ดังนั้นจึงได้มีพระราชดำริจัดงานพระราชกุศลพระราชทานชื่อว่า "ฉัตรมงคล" นี้ ขึ้นโดยได้มีการเฉลิมฉลองด้วยการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญพุทธมนต์ ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือนหก(๖) รุ่งขึ้นมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าการเฉลิมฉลองพระราชพิธีฉัตรมงคล เริ่มมีในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก
ต่อมาในสมัยรัชกาล ที่ 5 วันบรมราชาภิเษกตรงกับเดือนสิบสอง(๑๒) จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉัตรมงคลในสิบสอง(๑๒)แต่ไม่ได้รับการยินยอม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงแก้ไขด้วยการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยตราจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูลขึ้น ให้มีพระราชทานตรานี้ตรงกับวันคล้ายบรมราชาภิเษก ท่านผู้หลักผู้ใหญ่จึงยินยอมให้เลื่อนงานฉัตรมงคลมาตรงกับวันบรมราชาภิเษก แต่ยังให้รักษาประเพณีสมโภชเครื่องราชูปโภคอยู่ตามเดิม รูปแบบงานวันฉัตรมงคลจึงเป็นเช่นนี้จนถึงปัจจุบัน
กิจกรรมในวันฉัตรมงคล
เพราะ ในวันที่ 5 พฤษภาคม เป็นวันฉัตรมงคล และเพื่อระลึก และเฉลิมฉลอง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงรับพระบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ ลำดับที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี พสกนิกร และรัฐบาล จึงได้ร่วมกัน จัดพระราชพิธีฉัตรมงคลขึ้น เพื่อถวายพระพรชัย ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ที่ประชาชนชาวไทยได้ร่วมกันทำขึ้นก็คือ
พระราชพิธีฉัตรมงคล
พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ วันที่ 5 พฤษภาคม และมีงานเลี้ยงพระและสมโภชเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ได้แก่ พระมหาเศวตฉัตร พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ฯลฯ จากนั้นทหารบกทหารเรือยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติฝ่ายละ 21 นัด โดยในวันเดียวกันนี้ จะมีการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ พระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึง ข้าราชการ และผู้กระทำความดีให้แก่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ทั้ง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เปิดปราสาทพระเทพบิดรในพระบรมมหาราชวังให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการและประชาชนทั่วไปได้เข้าไปกราบถวายบังคมพระบรมรูปตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงห้าโมงเย็นอีกด้วย
ประดับธงชาติ
การร่วมประดับธงชาติตามบ้านเรือน และตามสถานที่ราชการทุกแห่ง ถือเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งของการร่วมเฉลิมฉลอง และระลึกถึงวันที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงรับพระบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ ลำดับที่ 9 ซึ่งประชาชนจะเข้าร่วมพระราชพิธี ในวันที่5 พฤษภาคม ของทุกปี ทุกบ้าน และสถานที่ราชการจะใช้การประดับธง
ทำบุญตักบาตร
การทำบุญตักบาตร และประกอบพิธีทางศาสนาเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล และเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต เนื่องในวันฉัตรมงคล ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ประชาชนทั่วไปทำทุกปี ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมที่สืบทอดต่อกันมา
ถวายพระพรชัย
เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่เหล่าพสกนิกรร่วมน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัย พร้อมกับกล่าวคำถวายอาศิรวาทราชสดุดี ถวายชัยมงคลให้ทรงพระเกษมสำราญ ทรงเจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน เป็นมหามิ่งขวัญแก่ชาวไทย
ปลูกต้นไม้และทำความดี
เข้าร่วมกิจกรรมปลูกป่า ปลูกต้นไม้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสมหามงคล บรมราชาภิเษก ในทุกๆปี ของวันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งส่วนใหญ่ตามหน่วยงานราชการจะเป็นฝ่ายจัดการเรื่องนี้และให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม การทำแต่สิ่งที่เป็นมงคล คิดดี ทำดี พูดดี และทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ครอบครัว และต่อตนเอง
แนวทางส่งเสริมวันฉัตรมงคล
ตลอดหลายปีภายใต้ร่มฉัตรแห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พสกนิกรชาวไทยต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณและต่างรู้ซึ้งถึงพระอัจฉริยภาพรอบด้านของพระองค์ ทำให้หลายหน่วยงานต่างพร้อมใจที่จะนำเสนอแนวทางต่างๆ เพื่อส่งเสริมงานวันฉัตรมงคล และเพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเพื่อเป็นการ สืบสานขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของไทยให้แก่อนุชนรุ่นหลัง
เทิดทูนพระเกียรติยศ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอัจฉริยะรอบด้าน และทรงพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ที่เป็นประโยชน์เพื่อประชาชนของพระองค์ การได้จัดกิจกรรมถวาย เพื่อเป็นพระราชกุศลแด่พระเจ้าอยู่หัว ถือว่าเป็นสิ่งที่ประชาชนพึงควรกระทำ รวมถึงเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อพระองค์ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีต่อเยาวชนรุ่นหลังให้ได้ดำเนินรอยตาม และรักษาประเพณีนี้สืบต่อไปด้วย
จัดกิจกรรมเพื่อร่วมเฉลิมฉลอง
การประดับธงชาติตามอาคารสถานที่ตั้ง สำหรับประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ซึ่งสามารถร่วมเฉลิมฉลองในวันนี้ด้วย หรืออาจจะมีการสัมมนาทางวิชาการ เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชพิธีฉัตรมงคลและความสำคัญของพระราชพิธีนี้ว่าเป็นมาอย่างไร รวมถึงกิจกรรมอื่นๆที่เหมาะสม
ทำแต่สิ่งที่เป็นมงคล
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวโรกาสวันที่ 5 พฤษภาคม "วันฉัตรมงคล" เวียนมาบรรจบอีกวาระหนึ่งนี้ ซึ่งถือว่าเป็นวันมงคลของชาติ การเชิญชวนชาวไทยทำแต่สิ่งที่เป็นมงคลแก่ตนเองและแก่บ้านเมือง ด้วยการน้อมรำลึกถึงการอุทิศพระวรกาย ทรงพระราชกรณียกิจอันเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองและปวงชน เพื่อพระราชทานแก่คนไทยและเมืองไทย
ทุกปีของวัน ฉัตรมงคล หรือวันที่ 5 พฤษภาคม เป็นวันที่เราได้พระมหากษัตริย์ไทยอีกพระองค์หนึ่งที่ทรงคุณอันประเสริฐยิ่ง ซึ่งเมื่อเวียนมาบรรจบครบรอบอีกหนึ่งรอบ พสกนิกรชาวไทยทั้งหลาย จึงควรระลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจ อันมีคุณอนันต์แก่ประชาชนชาวไทยอย่างหาที่สุด