วันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา ทำให้ชาวพุทธได้มีโอกาสได้เข้าวัดทำบุญ และน้อมรำลึกถึงคำสอนสิ่งดีๆของพระพุทธเจ้า ซึ่งคำสอนของพระพุทธเจ้าส่วนใหญ่จะเน้นให้คนทำความดี และละเว้นสิ่งชั่วร้าย ทั้งคำพูด การกระทำ และความคิด ซึ่งทำให้ชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธยึดถือและปฏิบัติสืบทอดกันต่อมา
ความหมายของวันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธนิกายเถรวาท อาสาฬหบูชา ย่อมาจาก "อาสาฬหปูรณมีบูชา" หมายถึง "การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ" อันเป็นเดือนที่สี่ตามปฏิทินของประเทศอินเดีย และตรงกับวันเพ็ญ เดือนแปด(๘) ตามปฏิทินจันทรคติของไทย
วันอาสาฬหบูชาในประเทศไทย
สมัยก่อนนั้นในเดือนแปด(๘) ไม่มีการประกอบพิธีการบูชาวันอาสาฬหบูชาในประเทศไทย ประเทศพุทธเถรวาทมาก่อน จนกระทั่งปี พ.ศ.2501 พิธีบูชาในวันอาสาฬหบูชาจึงได้เริ่มมีขึ้นในประเทศไทย ซึ่งคณะสังฆมนตรี ได้ออกเป็นประกาศสำนักสังฆนายกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2501 กำหนดให้มีพิธีอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ตามคำแนะนำของ พระธรรมโกศาจารย์ โดยคณะสังฆมนตรี โดยมีพิธีปฏิบัติเหมือนกับวันวิสาขบูชาซึ่งเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเช่นกัน
วันที่ใช้จัดงานวันอาสาฬหบูชา
วันที่ใช้จัดงานวันอาสาฬหบูชา จะไม่ตรงกันทุกปีตามปฏิทินสากล จะใช้ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปด(๘)(หากปีใดมีเดือนแปด(๘)สองหน (ปีอธิกมาส) ให้เลื่อนไปเดือนแปดหลัง(๘๘) จัดพิธี
ปฏิทินวันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา พ.ศ.2558 ตรงกับ วันพฤหัสบดีที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2558 / วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปดหลัง(๘๘) ปีมะแม
วันอาสาฬหบูชา พ.ศ.2559 ตรงกับ วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2559 / วันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปด(๘) ปีวอก
วันอาสาฬหบูชา พ.ศ.2560 ตรงกับ วันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2560 / วันเสาร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปด(๘) ปีระกา
วันอาสาฬหบูชา พ.ศ.2561 ตรงกับ วันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2561 / วันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปดหลัง(๘๘) ปีจอ
วันอาสาฬหบูชา พ.ศ.2562 ตรงกับ วันอังคารที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2562 / วันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปด(๘) ปีกุน
วันอาสาฬหบูชา พ.ศ.2563 ตรงกับ วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ.2563 / วันอาทิตย์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปด(๘) ปีชวด
วันอาสาฬหบูชา พ.ศ.2564 ตรงกับ วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ.2564 / วันเสาร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปดหลัง(๘๘) ปีฉลู
วันอาสาฬหบูชา พ.ศ.2565 ตรงกับ วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2565 / วันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปด(๘) ปีขาล
วันอาสาฬหบูชา พ.ศ.2566 ตรงกับ วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2566 / วันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปดหลัง(๘๘) ปีเถาะ
วันอาสาฬหบูชา พ.ศ.2567 ตรงกับ วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2567 / วันเสาร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปด(๘) ปีมะโรง
วันอาสาฬหบูชา พ.ศ.2568 ตรงกับ วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2568 / วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปด(๘) ปีมะเส็ง
ประวัติวันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชาได้รับการยกย่องให้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องมาจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปด(๘)คือวันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ 45 ปี ก่อนพุทธศักราช ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ ซึ่งเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรกเป็นปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์
การแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้ โกณฑัญญะ 1 ใน 5 ปัญจวัคคีย์ เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรม คือการบรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน จึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ทำให้พระอัญญาโกณฑัญญะ กลายเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก ด้วยเหตุที่ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล เป็นคนแรก หรือเป็นพระสงฆ์องค์แรกนั่นเอง ทำให้ในวันนั้นมีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้ง พระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ วันนี้ถูกเรียกว่า "วันพระธรรม" หรือ วันพระธรรมจักร คือเป็นวันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก และ "วันพระสงฆ์" คือวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก อีกด้วย
วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมที่ตรัสรู้เป็นครั้งแรก จึงถือได้ว่าวันนี้เป็นวันเริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนาให้ชาวโลกได้รับรู้ ว่ามีศาสนาพุทธเกิดขึ้นแล้ว เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา และด้วยการที่พระพุทธเจ้าทรงสามารถ แสดงพระธรรมที่ตรัสรู้ได้ จึงถือได้ว่าพระองค์ได้ทรงกลายเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างสมบูรณ์ คือพระพุทธเจ้าเป็นผู้สามารถแสดงสิ่งที่ตรัสรู้ให้ผู้อื่นรู้และปฏิบัติตามได้ ซึ่งถือว่าพระองค์ทรงสำเร็จภารกิจแห่งการเป็นพระพุทธเจ้าผู้เป็น "สัมมาสัมพุทธะ" ด้วยเหตุนี้วันอาสาฬหบูชาจึงมีชื่อเรียกว่า "วันพระธรรม"
ดังนั้น วันอาสาฬหบูชาจึงถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนา เพื่อให้ชาวพุทธต่างระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า และยึดมั่นในหลักความดี
กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติในวันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา ได้ถูกประกาศให้เป็นวันหยุดราชการทั่วประเทศ เพื่อที่จะให้พุทธศาสนิกชน รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์และประชาชนทั่วไป ประกอบพิธีต่าง ๆ เพื่อบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญดังกล่าวที่ถือได้ว่า เป็นวันที่วันที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมเทศนา หรือหลักธรรมที่ทรงตรัสรู้เป็นครั้งแรก ซึ่งกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นในวันอาสาฬหบูชา เช่น
ทำบุญตักบาตร
ถวายดอกไม้ธูปเทียนในวันอาสาฬหบูชา โดยพุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และตลอดวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดีอื่น ๆ เช่น ไปวัดรับศีล งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ถวายสังฆทาน ปล่อยนกปล่อยปลา หรือฟังพระธรรมเทศนา ซึ่งการทำบุญตักบาตรแล้วกรวดน้ำแผ่ส่วนบุญให้แกผู้ล่วงลับ รักษาศีล 5 หรือศีล 8 เว้นจากการทำบาป ทำแต่ความดี ทำใจให้บริสุทธิ์ และแผ่เมตตาให้แก่สัตว์ ล้วนแต่เป็นกิจกรรมซึ่งสำคัญและเป็นสิ่งที่ดีต่อตนเอง
เข้าวัดในฟังธรรม เวียนเทียน
พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า หรือการเข้าวัดเพื่อฟังพระธรรมเทศนา การหรือจัดสำรับคาวหวานไปทำบุญถวายภัตตาหาร ก็จะช่วยทำให้รู้สึกดี และจิตใจผ่องใส นอกจากเข้าวัด ทำบุญตักบาตรแล้ว ยังอาจนั่งฟังพระธรรมเทศนา เจริญสมาธิภาวนา การบำเพ็ญบุญกุศลความดี และเวียนเทียนช่วงค่ำด้วยการนำดอกไม้ ธูปเทียนไปเวียนเทียน 3 รอบที่พระอุโบสถ โดยการเวียนเทียนนั้นจะเวียนขวา จำนวน 3 รอบ และช่วงเวลาที่เดินอยู่นั้นให้ระลึกถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม
กิจกรรมในวันวันอาสาฬหบูชา สิ่งที่ร่วมกันทำส่วนใหญ่มักจะเป็นการความสะอาดวัด หรือสถานที่สาธารณะการร่วมบำเพ็ญกุศลและปฏิบัติธรรมในกลุ่มใหญ่ การปลูกต้นไม้ รวมทั้งควรศึกษาหลักธรรมคำสั่งสอน และความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา
กิจกรรมของสถานศึกษา
การให้นักเรียนร่วมกันทำบุญ ตักบาตร และ เวียนเทียน รวมถึงการบำเพ็ญกุศล อื่นๆ อย่างการเก็บกวาดขยะรอบวัด ถือเป็นกิจกรรมอย่างหนึ่ง และการให้สถานศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของการสืบทอดพระพุทธศาสนา การเผยแพร่หลักคำสอนด้วยการจัดบอร์ดของวันอาสาฬหบูชา จัดนิทรรศการให้ความรู้ ประกวดเรียงความ ตอบปัญหาธรรมะ และอาจมีการประกาศเกียรติคุณให้กับนักเรียนผู้ทำประโยชน์ ซึ่งถือเป็นสิ่งประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี
ข้อควรระวังในการจัดกิจกรรมวันอาสาฬหบูชา
นับเป็นวันที่สำคัญในประวัติศาสตร์แห่งพระพุทธศาสนา คือวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาหรือหลักธรรมที่ทรงตรัสรู้ เป็นครั้งแรกแก่เบญจวัคคีย์ทั้ง 5 ซึ่งการที่เราได้ทำตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรยึดถือและปฏิบัติ เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา รวมถึงการเผยแพร่หลักธรรมอันดีที่จะทำให้ชีวิตมีแต่ความเจริญ หากแต่ข้อควรระวังที่ไม่พึงทำในวันอาสฬหบูชานี้ มีอะไรบ้าง
การไม่ทำบาป
วันอาสาฬหบูชา ถือเป็นวันสำคัญของทางพุทธศาสนา ซึ่งการที่ได้ทำตามหลักคำสอนของพระพุทธองค์ ถือว่าเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต สิ่งที่ไม่ควรกระทำในวันอาสาฬหบูชาคือ การทำบาป การไม่รู้จักทำบุญ ตักบาตร ไม่รักษาศีล หรือฟังพระธรรมเทศนา ซึ่งการที่ไม่ยอมปฏิบัติตามพิธีกรรมของศาสนาพุทธ นั้นถือว่า พุทธศาสนิกชนนอกจากจะเป็นบาปที่กาย วาจา ใจแล้ว ยังไม่ได้รับประโยชน์ ซึ่งจะนำมาต่อการดำรงชีวิตที่ดีอีกด้วย
การไม่หลงมัวเมาต่อสิ่งยั่วยุ
ควรระลึกเตือนใจสำรวจตัวเองว่า ชีวิตเราได้เจริญงอกงามขึ้น และมีความเป็นอยู่ในชีวิตนี้เพียงใด หากเรายังดำเนินชีวิตอยู่อย่างลุ่มหลงและมัวเมาต่อสิ่งยั่วยุ แสง สี เสียง อันจะก่อให้เกิดกิเลส หรือมีจิตใจอิสระเกินไป อาจทำให้มีการขาดสติ แล้วทำในสิ่งที่ผิดเกิดขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นความผิดติดตัวไปตลอดชีวิตแล้ว ยังเป็นตราบาปที่ไม่อาจแก้ไขอีกได้
การไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน
วันอาสาฬหบูชา ถือว่าเป็นวันพระ การรักษาศีล 5 อย่าง การฆ่าสัตว์ การไม่ลักขโมย ไม่พูดโกหก ไม่ผิดลูกเมียชาวบ้าน และไม่ดื่มสุรา ซึ่งหากทำได้ ก็ถือว่าเป็นการสร้างอานิสงส์และผลบุญให้กับตัวเอง และไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนอีกด้วย ซึ่งการมีสติ เพื่อยั้งคิดก่อนที่จะทำอะไรลงไปในทางที่ไม่ถูกไม่ควรนั้น ถือเป็นการยับยั้งช่างใจไม่ให้เราทำบาป และคอยสร้างแต่สิ่งดีๆ ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า นั่นเอง
การเดินทางสายกลาง การไม่หลงฝักใฝ่ฝ่ายใดและการยับยั้งชั่งคิดก่อนที่จะทำสิ่งที่ไม่ดี ถือเป็นการสร้างกรรมดีให้กับตัวเอง เพื่อไม่ให้เป็นบาปติดตัวไปยังภพหน้า เพียงแค่ยึดหลักธรรมคำสอนง่ายๆขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะทำให้คุณเข้าสู่หนทางแห่งแสงสว่างธรรมได้อย่างรวดเร็ว
แนวทางการส่งเสริมวันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ส่วนใหญ่จะเป็นวันที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าซึ่งจะกำหนดเอาวันที่มีเหตุการณ์พิเศษเกิดขึ้นในชีวิตของพระองค์เป็นหลัก ซึ่งการศึกษาวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา นอกจากจะได้ความรู้ ความเข้าใจในพระพุทธศาสนาที่ถูกต้องแล้วยังช่วยให้ผู้ศึกษาเกิดความซาบซึ้ง และเกิดแนวความคิดในการปฏิบัติ และการเข้าร่วมกิจกรรมในชีวิตประจำวันต่อไป
ละเว้นอบายมุขทุกประเภท
สิ่งที่เป็นอบายมุขต่างๆ คือสิ่งยั่วยุในทางที่ไม่ถูกไม่ควร คิด ไม่ควรทำ และไม่ควรเข้าไปยุ่ง อย่างเช่น เหล้า บุหรี่ การพนัน หากลองยื่นขาเข้าไปหนึ่งข้างแล้ว และยังพอมีสติเมื่อคิดได้ ก็อาจจะก้าวขานั้นออกมา เพราะถือว่าเป็นการลองในสิ่งที่ไม่รู้ แต่เมื่อรู้แล้วว่าไม่ดี แต่ยังไม่ยอมก้าวขาออก ก็จะทำให้ขมอยู่กับสิ่งๆนั้น หากได้ฟังธรรมและหลักคอสอนของพระพุทธเจ้า อาจจะทำให้จิตใจเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น
ปฏิบัติธรรมเพื่อดำเนินตามหลักคำสอน
สมาทานศีล 5 ศีลอุโบสถ และศีล 8 ตักบาตรพระ ฟังพระธรรมเทศนาธัมมจักกัปปวัตนสูตร ปฏิบัติกรรมฐาน ทั้งสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน เหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะทำให้ จิตใจผ่องใส เพราะการปฏิบัติธรรมจะทำให้เกิดความศรัทธาและรู้ถึงรสพระธรรม และเข้าในหลักคำสอยของพระพุทธเจ้า
การส่งเสริมให้มีการทำทานในวันอาสาฬหบูชา
การทำทาน เช่น ดูแลบิดามารดา และเลี้ยงสัตว์ผู้อดยาก ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรม ซึ่งหาหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมมือกันจัดงานเหล่านี้ หรือ มีกิจกรรมพิเศษ ที่ต้องการรับสมัครอาสาสมัครขึ้นมาจากส่วนรวม เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ประเพณีไทย ธรรมเนียม และศาสนา ซึ่งทุกอย่างที่ทำ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ดี แม้จะไม่มีอะไรตอบแทน เพียงแค่เห็นรอยยิ้มของผู้ที่เราได้กระทำให้โดยความตั้งใจในสิ่งดีๆ การได้รับพรต่างๆ ในความดีที่เราทำ ล้วนแล้วแต่เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต ที่น่าจะปฏิบัติและสืบทอดกันต่อถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน
หรือแม้แต่การบูชาพระรัตนตรัย การเวียนเทียนรำลึกรอบสัญลักษณ์ของพระรัตนตรัย เช่น โบสถ์ ต้นโพธิ์ พระพุทธรูป ต่างก็เป็นการรำลึกถึงหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า และยังเป็นการส่งเสริมแนวทางการรักษาประเพณีของพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่คนไทยตลอดไป