ยามอุบากอง
ยามอุบากอง หากท่านสนใจในศาสตร์พยากรณ์ หรือได้คลุกคลีกับคนเฒ่าคนแก่ คงได้ยินชื่อนี้มาบ้าง หรือใช้เป็นอยู่แล้ว ผมเองรู้จักยามนี้ตั้งแต่เด็กๆ ที่มาที่ไปอาจเหมือนหลายๆท่าน ถ้าจำสัก 10-20 ปีที่แล้ว ช่วงที่มีการลือกตั้ง ในบัตรแนะนำตัวผู้สมัครใบเล็กๆ ด้านหลังจะมีตาราง มีรูปกากบาท จุดกลมๆ คล้ายแต้มลูกเต๋า ก็ด้วยเป็นเด็กก็สงสัยว่าคืออะไร เผื่อว่าเป็นเกมจะได้เล่น ก็เลยถามคุณตาเช่นเคย คุณตาก็แนะนำและเปิดให้ดูในตำราพรหมชาติ และก็สอนว่าดูอย่างไร ก็ไม่ยากเลยเพียงรู้จักวัน และดูนาฬิกาหรือรู้เวลาก็ใช้ยามนี้ได้แล้ว
นั้นก็เป็นครั้งแรกที่รู้จัก และก็ใช้มาเรื่อยๆโดยเขียนเป็นกระดาษเล็กๆใส่กระเป๋าสตางค์ไว้เพื่อเปิดดูง่ายๆ ยามอุบากองนี้จะใช้ตอน ดูเวลาเดินทาง จะออกรถ พบลูกค้า นำเสนองาน เข้าพบเจ้านาย หรือทำการสำคัญต่าง คือถ้าเลือกเวลาได้ก็จะเลือกตามยามอุบากอง ที่ผ่านมาก็ได้ผลดีน่าพอใจ ขึ้นอยู่กับอยู่ที่การยึดถือปฏิบัติของเราด้วย
มาดูต่อถึงที่มาที่ไปของยามอุบากองกันบ้าง ซึ่งข้อมูลจาก 2 ที่ คือตำราพรหมชาติ และ บทความ-สารคดี ยามอุบากอง โดย รวิทัต ฉบับที่ 2505 ปีที่ 48 ประจำวัน อังคาร ที่ 22 ตุลาคม 2545 ซึ่งเขียนอ้างอิงพงสาวดาร ผมขอหยิบยกนำเสนอบางส่วนซึ่งเนื้อหาคล้าย ๆ กัน
คำว่า "อุบากอง" เป็นชื่อนายทหารเอกของพม่า ซึ่งเข้ามาตีไทยในสมัยต้นรัชกาล กรุงรัตน โกสินทร์นี้เองมีประวัติที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ดังนี้
อุบากอง เป็นนายทหารยศขุนพล ได้คุมกำลังเข้าโจมตี เมืองเชียงใหม่ เมื่อแรม ๑ ค่ำ เดือนห้า(๕) ปีมะเมีย พ.ศ.2340 คราวที่พระเจ้าปะดุง ยก 9 ทัพมาตีไทยนั่นเอง แต่ด้วยเหตุผลกลใดไม่ปรากฏ อุบากองถูกฝ่ายไทยจับกุมตัวได้ คราวนั้นพ่อเมืองเชียงใหม่ ได้คุมตัวอุบากองส่งลงมายังกรุงเทพฯ เมื่อขึ้น ๘ ค่ำ เดือนหก(6) ปีมะเมีย พ.ศ.2340 สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตน โกสินทร์ จึงสั่งให้สอบสวนอุบากองทันที ปรากฏว่า อุบากองเป็นคนไทย เกิดในเมืองไทย เพราะมีพ่อ เป็นเชื้อสายพม่า แต่แม่เป็นเชื้อสายคนไทยแถบเมืองธนบุรี พระองค์จึงทรงพระเมตตา พระราชทาน เสื้อผ้า และให้นำไปจำขังไว้ที่คุกวัดโพธาราม (วัดพระเชตุพนฯ ในปัจจุบัน)
ระหว่างที่อุบากองกับพวกถูกจองจำ คุมขังที่คุกวัดโพธิ์ เขาได้สอนตำรายันต์ยามยาตรา ให้กับ พรรคพวก ซึ่งยามนี้ สามารถแหกคุกที่คุมขังได้ เมื่อพรรคพวกสามารถเรียนยามยาตราได้ ตามที่ตนบอกแล้ว อุบากองก็ทำพิธีตามหลักโหราศาสตร์ พอได้ฤกษ์งามยามดี จึงสามารถพากัน แหกคุกวัดโพธิ์ หลบหนีไปได้อย่างปลอดภัย โดยอุบากองกับพรรคพวก พากันหลบหนีไปยังเมือง พม่าได้
แต่ยามที่อุบากองบอกกับพรรคพวกนี้นั้น บังเอิญมีนักโทษพม่า ที่เป็นเชื้อสายไทยบางคน ไม่ได้หลบหนีไปด้วย จึงบอกเล่ากับผู้คุมนักโทษ จึงมีการนำมาเล่าเรียนกัน และให้ชื่อยามยาตรานี้ว่า "ยามอุบากอง" ตามชื่อเจ้าของยามยาตรานั่นเอง อนึ่ง ยามดังกล่าว ปรากฏว่า มีผู้นับถือว่า แม่นยำ ได้ผลจริงๆ ด้วย จึงศึกษาเล่าเรียนสืบๆ กัน มาตราบเท่าทุกวันนี้
ตำราพรหมชาติ
ตามพระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 1 บันทึกไว้ว่า
ไทยจับอุบากองเป็นเชลยได้ ใน พ.ศ.2338 เมื่อพม่ายกทัพมาล้อมเชียงใหม่ เวลานั้นเชียงใหม่ซึ่งพระยามังราวชิรปราการกำแพงแก้ว (หรือเจ้าหลวงกาวิละ) เป็นเจ้าหลวงอยู่ เวลานั้นเห็นจะตั้งอยู่ที่เวียงป่าซาง ยังมิได้เข้าไปอยู่ในนครเชียงใหม่ ด้วยเป็นนครเก่าร้างมานาน ตามประวัติเมืองเชียงใหม่ว่า พ.ศ.2339 จึงได้ยกจากป่าซางเข้านครเชียงใหม่ ดังนั้น ที่ว่าพม่ายกทัพเข้าล้อมเชียงใหม่ ก็คงจะล้อมเวียงป่าซางนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 1 มิได้เล่าถึงศึกครั้งนี้ละเอียดนัก จดไว้แต่เพียงว่า (ตัวสะกดอย่างเดิม) "ลุศักราช 1157 ปีเกาะสัปตศก ในรัชกาลที่ 1 เดือนห้า(5) พม่ายกมาตีเมืองเชียงใหม่ กรมพระราชวังบวรยกขึ้นไปช่วย ตีพม่าแตกไปจับอุบากองนายทับพม่าได้คนหนึ่ง แล้วเจ้าเมืองเชียงใหม่ถวายพระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปศักดิสิทธิ์สำรับเมืองเชียงใหม่ลงมา..." อุบากอง ตกมาเป็นเชลยในเมืองไทย ถูกจำขังอยู่ในคุกหลวง เป็นเวลาถึง 7 ปี ที่เรียกว่าคุกหลวงเพราะในสมัยโน้นตามวังและบ้านขุนนางสำคัญๆ ต่างมีคุกไว้ขังเชลยขังทาส เช่นกัน ตลอดเวลาเจ็ดปีที่อยู่ในคุกอุบากองได้ทำความสนิทคุ้นเคยกับผู้คุมและนักโทษตลอดจนคนไทยชาวบ้านอุบากองได้ทำลูกประคำจากปูนแดงและหินอ่อนทำนองเครื่องรางของขลังขาย ได้เงินมาก็แบ่งให้ผู้คุมอุบากองจึงเป็นนักโทษพิเศษ ผู้คุมยอมให้ไปไหนมาไหนและเที่ยวเตร่นอกคุกได้
อุบากองมียันต์สักติดแขน คงจะเป็นท้องแขน เพราะง่ายต่อการดูเพื่อคำนวณ ยันต์นี้ก็คือยันต์ดูฤกษ์ยามที่ต่อมาเรียกกันว่า ยามอุบากองนี้ สันนิษฐานกันว่า ที่สักไว้นั้นคงเป็นรูปยันต์สี่เหลี่ยมขมวดเป็นห่วง 4 มุม อย่างยันต์ทั่ว ๆ ไป และคงมิได้มีตัวเลขคำนวณไว้ชัดเจน ดังที่ปรากฏอยู่ในตำรามาจนทุกวันนี้ เมื่ออุบากองบอกยันต์ดูฤกษ์ยามนี้แก่คนไทยที่สนิทสนมกัน แล้วจำกันมาต่อๆ ท่านคงจดไว้เป็นตำราอย่างเรียบร้อย และด้วยความที่คนไทยมีนิสัยเจ้าบทเจ้ากลอน จึงแต่งคำทายทักออกมาให้คล้องจองกัน
อุบากองหนีคุก (ไม่น่าจะใช้คำว่า "แหกคุก" เพราะแหกคุกนั้นหมายถึงต้องมีการต่อสู้ฝ่าออกมา) เมื่อ พ.ศ.2345 เลขเรียงกันจำง่ายดี พ.ศ.2345 เกิดศึกพม่ายกมาล้อมเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ล้อมเมืองเชียงใหม่ ซึ่งเพิ่งจะตั้งเมือง "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" เพิ่งจะมั่นคงสมบูรณ์ได้เพียง 6 ปี อุบากองนี้ เห็นทีจะเกรงกลัวสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทอยู่เพียงพระองค์เดียว ถูกขังคุกอยู่หลายปีไม่กล้าหนี แต่พอสมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ เสด็จยกทัพไปเชียงใหม่ จึงได้ฉวยโอกาสหนี พระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 1 จดเรื่องอุบากองหนีเอาไว้ว่า (สะกดอย่างเดิม)
"ในปีนั้นอุบากองนายทับพม่าซึ่งจับมาได้แต่ปีเถาะสัปตศก โปรดให้จำไว้ไม่ประหารชีวิตร เพราะจะเอาไว้ไถ่ถามข้อความที่เมืองพม่า ครั้นอยู่มาอุบากองมีวิชาทำลูกแดง ที่คั่นลูกปะหล่ำขายได้เงินมาก ก็แบ่งให้พัศดีทำบรงผู้คุมเหนว่าเป็นบุตรไทยไม่ใช่พม่าแท้ ได้เงินแล้วก็จำแต่ตรวนลด อุบากองเที่ยวไปค่างไหนก็ไปได้ จนมีเพื่อนฝูงที่สนิท ก็คิดหนีไปเมืองพม่า ครั้นแจ้งว่ากรมพระราชวังบวรฯ เสด็จไปทางเมืองเชียงใหม่แล้ว ก็ลงเรือน้อยออกทางปากน้ำเมืองสมุทสงคราม แล่นเลียบไปตามริมฝั่งขึ้นท่าที่สิงขร ทางสิงขรนั้นเดินวันหนึ่ง ก็ตกแดนมฤท (เมืองมริด) โปรดให้ติดตามก็ไม่ได้ตัว ลูกแดงนั้นเขาว่ามันทำด้วยปูนแดงบ้าง ศิลาอ่อนบ้าง ไม่มีผู้ใดได้วิชาของมันไว้"
บางส่วนจาก บทความ-สารคดี ยามอุบากอง โดย รวิทัต
สำหรับที่มาที่ไป อาจแตกต่างกันบ้างเรื่องความดุดัน ในมุมมองของตำนานเรื่องเล่า และพงสาวดาร ต่อไปก็มาดูเรื่องยามอุบากองกันต่อ ยามอุบากกอง เท่าที่เห็นจะมีวิธีอ่าน 3 แบบหลัก ๆ คือใช้วันกับเวลา,วัน ขึ้นแรมกับเวลา และใช้ดิถีค่ำกับเวลา อาจมีแตกต่างที่ช่วงเวลาอยู่บ้างบางตำรา สำหรับรูปแบบตารางที่เคยเห็นจะมี 2 แบบหลัก ๆ แบบทั่วไป 7 X 5 หรือ 35 ช่อง แบบเล็กสุดก็ 5 X 5 หรือ 25 ช่อง และซึ่งเท่าที่ดูแบบเล็กๆก็มาจากแบบเดียวกัน ตัดต่อย่อเพื่อความสะดวก เพราะการการวางจุดศูนย์ หรือกากบาทมีรูปแบบซ้ำกันอยู่
การเดินยามอุบากองแบบ ที่ 1 (ใช้วัน + เวลา)
คลิ๊กรูปเพื่อดูรูปใหญ่/พิมพ์
การเดินยามแบบที่ 1 ใช้ตารางดังรูป ยามอุบากอง 1 ซึ่งเป็นแบบตารางที่นิยมใช้ อาจเพราะมีเผยแพร่มากที่สุด จะมีรูปแบบ คือมีวันทั้ง 7 คือ จันทร์ - อาทิตย์ และช่วงเวลาแบ่งเป็นกลางวัน 5 ยาม กลางคืน 5 ยาม โดย 1 ยามอุบากองเท่ากับ 2 นาฬิกา(ชั่วโมง) กับ 4 บาท หรือ 2 ชั่วโมง 24 นาที โดย 1 บาท(เวลา) เท่ากับ 6 นาที ซึ่งจะได้ช่วงรอบเวลาประมาณดังนี้
กลางวัน เช้า
06.01น. ถึง 08.24น.
กลางวัน สาย
08.25น. ถึง 10.48น.
กลางวัน เที่ยง
10.49น. ถึง 13.12น.
กลางวัน บ่าย
13.13น. ถึง 15.36น.
กลางวัน เย็น
15.37น. ถึง 18.00น.
กลางคืน ยามที่ 1
18.01น. ถึง 20.24น.
กลางคืน ยามที่ 2
20.25น. ถึง 22.48น.
กลางคืน ยามที่ 3
22.49น.ถึง 01.12น.
กลางคืน ยามที่ 4
01.13น. ถีง 03.36น.
กลางคืน ยามที่ 5
03.37น. ถึง 06.00น.
ก่อนใช้ยามอุบากองนี้ต้องเรียนรู้ ความหมายหรือคำทำนาย สัญลักษณ์ก่อน ซึ่งโบราณได้เรียบเรียงไว้ดังนี้ (ช่องว่าง ๆ หมายถึง ปลอดศูนย์)
ศูนย์หนึ่งอย่าพึ่งจร
แม้ราญรอนจะอัปรา
สองศูนย์เร่งยาตรา
จะมีลาภสวัสดี
ปลอดศูนย์พูลสวัสดิ์
ภัยพิบัติลาภบ่มี
กากบาทตัวอัปรีย์
แม้จรลีจะอัปรา
สี่ศูนย์จะพูนผล
แม้จรดลดีหนักหนา
มีลาภล้นคณนา
เร่งยาตราจะมีชัย
#ads-text#วิธีการเดินยาม ขั้นตอนแรก ดูที่วัน ก่อนว่าวันที่ต้องการดูวันอะไร อาทิตย์ จันทร์ อังคาร ... ต้องเป็นวันตามโบราณพม่า-ไทย หรือโหราศาสตร์ คือเริ่มวันใหม่เมื่ออาทิตย์ขี้น หรือเวลา 6.00น. แตกต่างจากสากลซึ่งเปลี่ยนวันตอนเที่ยงคืน ดูเพิ่มเติม การเปลี่ยนวันใหม่ การนับวันทางโหราศาสตร์ คือถ้าช่วงเวลากลางวันก็ใช้วันปรกตินั้น ๆ ได้เลย แต่ถ้าช่วงหลังเที่ยงคืนถึงหกโมงเช้า ให้ย้อนไป 1 วันตั้งต้น เมื่อได้วันแล้วดูช่วงเวลา ที่ต้องการว่าเป็นช่วงไหนเปรียบเทียบในตาราง
เช่น วันจันทร์ ช่วงเวลา 09.00น. ดูช่องวันจันทร์ในตาราง ที่ตรงหรืออยู่ระหว่าง ช่วงเวลา 09.00น. ก็คือช่องในตารางช่วงเวลา สาย 08.25น. ถึง 10.48น. ในช่องมีค่า สี่ศูนย์ (จุดสีดำสีจุด) เมื่อได้แล้วก็ดูคำทำนาย "สี่ศูนย์จะพูนผล แม้จรดลดีหนักหนา" ก็คือเวลาดี ทำการสำคัญได้ ... สำหรับช่วงวันเวลาอื่น ๆ ก็หลักการวิธีเดินยามเหมือนกันครับ แต่ละวันจะมีช่วงเวลาดีคือ สองศูนย์ กับ สี่ศูนย์ จบสำหรับการเดินยามอุบากองแบบ ที่ 1
การเดินยามอุบากองแบบ ที่ 2 (ค่ำขึ้นแรม + เวลา)
การเดินยามแบบที่ 2 นี้ก็จะมี 2 แบบ แบบแรกเป็นแบบลูกครึ่ง ใช้วัน (เหมือนแบบแรก) ข้างขึ้นข้างแรม(ไม่ดูว่าแรมขึ้นกี่ค่ำ) และเวลา ส่วนตารางก็ใช้เหมือนเดิม แต่ข้างขึ้นข้างแรมช่วงเวลาดูกลับกัน คือข้างขึ้นเหมือนเดิม จากเช้าไปเย็น ส่วนข้างแรมกลับกัน เป็นจากเย็นไปเช้า ช่วงเวลาก็ตามกัน ซึ่งจริง ๆ ดูตามรูป ยามอุบากอง 1 ได้เลย แต่ขออธิบายดังรูปด้านล่างน่าจะดูง่ายกว่า
เพิ่มเติม เรื่องช่วงเวลาจากตำราพรหมชาติ ซึ่งมีช่วงเวลาของยามต่างกัน ดังนี้ (ส่วนตัวจะใช้ช่วงเวลาแบบแรกเพราะรอบเวลาคงที่ 2 ชั่วโมง 24 นาที จาก 6 โมงเช้าก็บวกไปเรื่อย ๆ)
เช้า 06.00น. ถึง 08.30น.
สาย 08.31น. ถึง 11น. กว่า
เที่ยง 11น. กว่า ถึง 12.59น.
บ่าย 13.00น. ถึง 13.30น.
เย็น 15.31น. ถึง 18.00น.
การเดินยามอุบากองแบบ ที่ 3 (ใช้ดิถีค่ำ + เวลา)
คลิ๊กรูปเพื่อดูรูปใหญ่/พิมพ์
การเดินยามอีกแบบ (แบบสุดท้าย) ใช้ดิถีค่ำ + เวลา รูปแบบนี้ถ้าดูดี ๆ จะคล้ายกับแบบแรก เพียงแต่ตัด วันศุกร์และวันเสาร์ออก ซึ่งจะเหลือ 5 X 5 หรือ 25 ช่อง วิธีการเดินยามแบบนี้ จะใช้ดีถีค่ำ ข้างขึ้น ข้างแรม
เช่น ขึ้น ๗ ค่ำ เวลา 10:50น. วิธีนับคือ นับทีละช่อง เริ่มจาก ๑ ค่ำ ถึง ๕ ค่ำ ก่อน พอ ๖ ค่ำ ก็เริ่มที่ 1 ใหม่ ๗ ค่ำ ก็เริ่มที่ 2 วนเรื่อย ๆ จนถึง ค่ำที่ต้องการ ในที่นี่คือ ๗ ค่ำ ก็คือแถวที่ 2 จากนั้นมาดูช่วงเวลาแถวที่ 2 ว่าอยู่ช่วงใด ช่วง 10:50น. ตกกากบาท เวลาเที่ยง กากบาทตัวอัปรีย์ แม้จรลีจะอัปรา ก็คือไม่ดีห้ามทำการสำคัญ
ส่วน เวลากลางคืน นับค่ำเหมือนเดิม แต่ช่วงเวลาดูกลับกัน คือกลางวันเหมือนเดิม จากเช้าไปเย็น กลางคืนก็กลับกัน เป็นจากเย็นไปเช้า ช่วงเวลาก็ตามกันดูตามรูป ยามอุบากอง 2 อาจงง ๆ หน่อยหลาย ๆ แบบกลับไปกลับมา
ค่ำหรือดิถี เท่าที่เห็นใช้มีอยู่ 3 แบบ (มีย่อยอีกแล้ว)
ดิถีแบบแรก ใช้ ค่ำ ข้างขึ้น ข้างแรม ตามปฏิทินจันทรคติไทย ซึ่งมีการทดวัน ทดเดือน และอาจมีคลาดเคลื่อนผิดจากตำแหน่งจันทร์จริงได้
ดิถีแบบที่สอง ใช้ดิถีโหรที่คำนวณจากตำแหน่งจันทร์จริง จากดิถีในปฏิทินโหราศาสตร์ ที่มีบอกดิถีตำแหน่งดาวที่ได้คำนวณไว้แล้ว
ดิถีแบบที่สาม ใช้ ค่ำ หรือวันที่ตามปฏิทินจีน ซึ่งค่อนข้างแม่นยำกับตำแหน่งจันทร์จริง ค่ำของปฏิทินจีน เริ่ม ตั้งแต่ 1 - 30 บางเดือนอาจมี 29 วัน ไม่มีขึ้นแรม ถ้ามีปฏิทินจีน หรือปฏิทิน 3 ภาษา ก็ดูตามรูปด้านล่างได้เลย เช่น วันที่ 1 กรกฎาคม ตรงวันพฤหัสบดี แรม ๕ ค่ำ เดือนแปด หรือ 20 ค่ำเดือนห้า ของจีน ประมาณนี้ ... ถ้าถามว่าแล้วเลือกดิถีแบบไหนดี ก็ต้องบอกว่าแล้วแต่สะดวกครับ มีปฏิทินอันไหนอยู่ในมือใช้อันนั้นก่อนได้
อีกเรื่องหนึ่งที่อาจเกิดคำถาม แล้วข้างขึ้นข้างแรม ได้ใช้หรือเปล่า คือจริง ๆ ขึ้นแรมนับจากจุดเริ่มต้นเดียวกัน (ปฏิทินจันทรคติไทย ขึ้น มีถึง 15 หารลงตัว ก็เริ่ม 1 ใหม่) ถ้าหากนับลัดก็ทำโดย เอาดิถีค่ำ หาร 5 ได้เท่าไหร่ก็ลงแถวนั้นได้เลย
เพิ่มเติมอีกนิดก่อนจบ ยามอุบากอง หรือ ยันต์อุบากอง แบบที่ 2 ผมยังไม่เคยเห็นแบบที่เป็นจัดพิมพ์ (อาจมี) แต่พอมีให้เห็นรูปเครื่องรางของขลังที่เกจิอาจารย์อยู่บ้าง เช่นดังรูปด้านล่าง
ยามอุบากองกรามช้างแกะ
หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว
รูปจาก taradpra.com<
แผ่นไม้ ยันต์อุบากอง
หลวงพ่อกวย วัดโฆสิตาราม
รูปจาก twatkositaram.com
เต่ายามอุบากองไม้โพธิ์แกะ หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน
รูปจาก taradpra.com
ครับ ... ขอจบเรื่องยามอุบากองเท่าที่ทราบเท่าที่ได้ศึกษา* ไว้เพียงเท่านี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ายามอุบากองนี้จะได้รับการเผยแพร่สืบทอดต่อไป
* จริง ๆ ยามอุบากองยังมีอีกส่วนหนึ่งครับ เช่น ยามเขา ยามเรา การเดินยาม การกันการแก้ยามของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นแบบเฉพาะ ผมยังไม่เคยศึกษาในรายละเอียดส่วนนั้น หากท่านใดทราบหรือมีตำราในส่วนที่นอกเหนือจากนี้ แนะนำมาได้ครับ , ขอบคุณครับ
ที่มา/อ้างอิง/ผู้เขียน : จักรกฤษณ์ แร่ทอง - มายโหรา.คอม
หมายเหตุ : เนื้อหาข้างต้นเผยแพร่แก่สาธารณะเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา/วิทยาทานเท่านั้น
บันทึก/เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2552
อ่าน ใช้งาน
แล้ว
เขียนรีวิว และคลิก Like , Share ให้ด้วยนะครับ :)
5.00
★ จาก
14 รีวิว