การเปลี่ยนปีนักษัตร
การเปลี่ยนปีนักษัตรมีหลายแบบ เช่น เปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย (๑) ตามปฏิทินหลวง เป็นแบบที่ใช้ในการบันทึกสูติบัตรปัจจุบัน (แนวทางปฏิบัติตาม หนังสือเวียนกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0310.1/ว4 ออกเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2539) , เปลี่ยนปีนักษัตรในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า(๕) ตามคติพราหมณ์ (ช่วงเวลาเปลี่ยนปีนักษัตรตามสูติบัตร จะไม่ตรงกันกับแบบคติพราหมณ์) ,
เปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ในวันเถลิงศก ช่วงวันที่ 15-17 เมษายน , เปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ในวันสังขารล่อง หรือวันสงกรานต์ตามแบบทางภาคเหนือ , เปลี่ยนปีนักษัตรแบบจีน ซึ่งเปลี่ยนปีนักษัตรใหม่วันสารทลิบชุน/วันตรุษจีนตามปฏิทินจันทรคติจีน หรือปฏิทินจีน , เปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ในวันที่ 1 มกราคม ตามปฏิทินของ อ.ทองเจือ อ่างแก้ว , เปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ในวันที่ 1 เมษายน ตามปฏิทินของ อ.เทพย์ สาริกบุตร เป็นต้น
ใช้ปีนักษัตรแบบใด ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้ทำการใด เช่น พยากรณ์ทางโหราศาสตร์แบบไทย จะใช้ปีนักษัตรตามคติพราหมณ์ คือเปลี่ยนปีนักษัตรในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า(๕) , พยากรณ์โหราศาสตร์แบบจีน ก็ควรต้องใช้ปีนักษัตรแบบจีนเป็นต้น
วันนี้เขียนเพิ่มเติมและแยกบทความเกี่ยวกับนับเปลี่ยนปีนักษัตร ... ใกล้ ๆ สิ้นปีหรือต้นปีผมมักจะได้รับอีเมลถามมาบ่อย ๆ เกี่ยวกับปีนักษัตร หลาย ๆ ท่าน ไม่เข้าใจเงื่อนไขตรงนี้ จริง ๆ เรื่องนี้มีหลายแนวทาง หลายแบบ ขึ้นอยู่กับครูบาอาจารย์ ตำราที่ยึดถือ บอกไว้อย่างไรผมอธิบายเพิ่มเติมจาก แนบท้ายปฏิทินจันทรคติในเวบไซต์นี้ ขอเขียนแบบ ถาม-ตอบ เพราะสรุปใจความได้ง่าย ขึ้นต้นคำถามว่า "ทำไม" ในหลาย ๆ แง่มุม แล้วอธิบายในรายละเอียดนะครับ
ทำไมจึงใช้ วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า(๕) เป็นวันเปลี่ยนปีนักษัตร ?
1. ใช้ตามข้อกำหนดตำราซึ่งตำราหลัก ๆ เช่น ตำราเลข 7 ตัว , กราฟชีวิต , พยากรณ์บุคคลตามปีนักษัตรเกิด ซึ่งจะใช้ปีนักษัตรตั้งต้นในการทำนาย
2. นักพยากรณ์ส่วนใหญ่จะปีนักษัตรใช้แบบนี้เป็นหลัก ใช้ตำราเก่าก็ต้องอ้างอิงใช้วันเดือนปีปฏิทินจันทรคติและนักษัตรแบบเก่าด้วย ถ้าปฏิทินเปลี่ยนก็ต้องเทียบหาวันที่ถูกต้องมาตั้งต้นเพื่ทำนาย
3. โหราศาสตร์แบบไทยที่ใช้ปีนักษัตรได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู อินเดีย ซึ่งวันขึ้นปีใหม่ฮินดู จะตรงกับ/หรือใกล้เคียงกับวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า(๕), เช่น ลองค้นหาคำว่า "Hindu New Year 2012","Hindi New Year 2012"จะตรงกับ วันศุกร์ ที่ 23 มีนาคม 2012 หรือ วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า(๕) (วันศุกร์ ที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2555) ปีอื่น ๆ ก็ใกล้เคียงกัน อาจแตกต่างกันวันหนึ่ง
4. ตามหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน วันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสี่ (๔) มีงานพระราชพิธีวันสัมพัจฉรฉินท์ หรือวันตรุษไทย(วันสิ้นปี) วันรุ่งขึ้นเป็นวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า(๕) ก็จะเริ่มปีนักษัตรใหม่ ปีใหม่ไทยแบบโบราณ
บางส่วนของ หนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน หน้า 211 , 212 , 213 , 214 , 215 , 216 , 217 , 218 , 219 , 220 , 221 และหน้า 222 (ผมมีเก็บไว้เล่มหนึ่ง หน้าอื่น ๆ ถ้าอยากดูก็ขอมาได้ครับ)
ทำไมไม่ใช้ วันสงกรานต์ หรือวันอื่น ๆ ในช่วงเดือนเมษายน เป็นวันเปลี่ยนปีนักษัตร ?
ถ้าพูดถึงวันสงกรานต์ตามโบราณต้องพูดถึง วันมหาสงกรานต์ , วันเนา และวันเถลิงศก วันสงกรานต์ ปัจจุบันเพื่อให้ง่ายในการจดจำและเทียบเคียงปฏิทินสุริยคติจึงกำหนดให้คงที่ ตรงกับวันที่ 13 เมษายนแทน
วันมหาสงกรานต์ ,เป็นช่วงที่พระอาทิตย์เปลี่ยนเข้าสู่ราศีเมษ(0 องศา 0 ลิปดา) จากการคำนวณตามคัมภีร์สุริยยาตร์ ซึ่งใช้คำนวณตำแหน่งดาวใช้ตั้งต้นเป็นปฏิทินโหราศาสตร์ในการผูกดวงวางลัคนา
วิชาโหราศาสตร์ไทยหลัก ๆ จะเน้นการคำนวณตำแหน่งดาว ราศีและฤกษ์ ไม่พูดถึงปีนักษัตร ส่วนดิถีในโหราศาสตร์ไทยจากการคำนวณจะเป็นดิถีโหร แตกต่างจากดิถีค่ำแรมจันทรติไทย , คัมภีร์สุริยยาตร์ใช้คำนวณสอบทานปฏิทินจันทรคติ การวางเกณฑ์อธิมาส อธิกวาร และตามตำรานักษัตรเดิมนั้น เคยผูกอ้างอิงปีชวดช่วงดาวพฤหัสบดีย้ายราศี *
ตามประวัติศาสตร์ เอกสาร พงศาวดารที่มีการบันทึกวันเดือนปี จะบันทึกวันเดือนปีนักษัตรนับวันจันทรคติเป็นหลัก วิชาโหราศาสตร์คัมภีร์สุริยยาตร์ เกณฑ์การคำนวณ วันมหาสงกรานต์ วันเถลิงศก เพิ่งมีแผยแพร่หลังสมัยสุโขทัย
* ตามตำรานักษัตรเดิมนั้น เคยผูกอ้างอิงปีชวดตอนดาวพฤหัสบดีย้ายราศี ในสมัยพุทธกาลจะเริ่มต้นปีชวดที่ราศีพฤษภ สมัยกรุงศรีอยุธยาจากตำราพราหมณ์ที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ให้ทางหอพระสมุดทำการชำระ จะได้เริ่มต้นปีนักษัตรชวด ที่ ราศีสิงห์ พอเข้าสู่ยุคเริ่มต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก็จะเริ่มต้นปีนักษัตรชวดที่ราศีธนู พวกที่เห็นแต่ในตำราชั้นหลัง จึงท่องเอาแต่ว่า เริ่มปีชวดที่ราศีธนู ซึ่งในปัจจุบันเริ่มคลาดเคลื่อนบ้างแล้วประมาณครึ่งราศี เพราะดาวพฤหัสบดีมีอัตราโคจรพักร์มณฑ์ เสริดสะสม โดยช่วงปัจจุบันนักษัตรปีชวดจะคร่อมระหว่างราศีธนูและราศีมกร : เรียบเรียงจากความเห็น คุณแย้ง / payakorn.com
ทำไมไม่ใช้ วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย (๑) , วันขึ้นปีใหม่ หรือ 1 มกราคม เป็นวันเปลี่ยนปีนักษัตร ?
วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย (๑) สมัยสุโขทัย โบราณใช้เป็นวันเปลี่ยนปีของมหาศักราช(ม.ศ.) หรือปีใหม่ แต่ก็ไม่ได้หมายความถึงเปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ตามคติพราหมณ์ วันขึ้นปีใหม่ปัจจุบันดูเหมือนเป็นเรื่องการปกครอง ซึ่งอาจให้ง่ายในการจดจำตามสมัย และตามสากลประเทศ วันขึ้นปีใหม่ของไทยเองก็มีเปลี่ยนหลายครั้ง
เช่น ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ กำหนดวันขึ้นปีใหม่ในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า(๕) ตามคติพราหมณ์ และใช้จนถึงวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า(๕)ปี พ.ศ.2432 ซึ่งตรงกับวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2432 (รัตนโกสินทร์ศก. 108) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงได้ทรงเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ เป็น วันที่ 1 เมษายน แทน
และใช้จนถึง พ.ศ.2483 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรงมีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ ไทยตามสากลประเทศ จากวันที่ 1 เมษายน เป็น วันที่ 1 มกราคม เริ่มใช้เป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2484 เป็นต้นมา (พ.ศ.2432 ประเทศไทยเริ่มใช้ ปฏิทินสุริยคติ แทนปฏิทินจันทรคติเป็นทางการ)
ดังนั้นถ้าพูดถึงตำราที่ใช้ปีนักษัตรตั้งต้นตามคติพราหมณ์ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับการปกครองก็ควรต้องยึด เทียบเคียงใช้ตามข้อกำหนดตำราแบบเก่า ใช้ตำราเก่าก็ต้องใช้วันเดือนปีปฏิทินจันทรคติแบบเก่าด้วย
เพราะถ้าไม่ยึดถืออย่างนี้ สมมุติว่าประเทศไทยเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 พฤษภาคม และทุกคนเข้าใจว่าวันเปลี่ยนนักษัตรในวันนี้ ก็จะเกิดความคลาดเคลื่อน เพราะวันปีใหม่ที่กำหนดใหม่ไม่ตรงกับดิถีดาวหรือนักษัตรที่กำหนดแต่โบราณ ถ้าอธิบายเป็นความรู้สึกจะเหมือนรำไทยแต่ใส่ชุดสูท ;) ประมาณนั้น
อ่านไปอ่านมาอาจสับสน อยากให้ แยกแยะระหว่าง วันขึ้นปีใหม่ , วันขึ้นปีใหม่ไทย , วันสงกรานต์ , วันมหาสงกรานต์ และ วันเปลี่ยนปีนักษัตร แยกระหว่างของเก่ากับใหม่ให้ออก และแยกแยะตำราที่ใช้ ก็น่าจะเห็นภาพว่าจะใช้แบบไหน
สำหรับปีนักษัตรใหม่ในวันที่ 1 มกราคม ตามปฏิทินของ อ.ทองเจือ อ่างแก้ว , เปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ในวันที่ 1 เมษายน ตามปฏิทินของ อ.เทพย์ สาริกบุตร ปฏิทินครูอาจารย์ทั้งสอง จะเน้นปฏิทินโหราศาสตร์หรือดาราศาสตร์ เพื่อผูกดวงโหราศาสตร์ไทยเป็นหลัก มีแสดงปีนักษัตร เป็นส่วนเสริม ซึ่งในการผูกดวงโหราศาสตร์ไทยจะไม่ได้ใช้นักษัตรในส่วนนี้
นอกจากนี้ยังมีปฏิทินที่รูปแบบเป็น ปฏิทินร้อยปี ซึ่งส่วนใหญ่จะเริ่มปีนักษัตร 1 เมษายน เข้าใจว่า ง่ายในการจัดพิมพ์ เพราะปฏิทินร้อยปีในแต่ละหน้า หรือแต่ละหน้าคู่จะแสดงข้อมูลทั้งปี และจะเริ่มที่เดือนเมษายน - มีนาคม ปีถัดไป พิมพ์ปีนักษัตรไว้ด้านบนในแต่ละหน้า ปฏิทินในปัจจุบันก็เช่นกัน เปลี่ยนปี เปลี่ยนเล่ม ก็เปลี่ยนนักษัตรเลยเพราะง่ายในการจัดพิมพ์
ทำไมไม่ใช้วันตรุษจีน หรือ วันสารทลิบชุน เป็นวันเปลี่ยนปีนักษัตร ?
พยากรณ์ทางโหราศาสตร์แบบไทย ตำราแบบไทย ก็ควรใช้ปีนักษัตรแบบไทยตามคติพราหมณ์ , พยากรณ์โหราศาสตร์แบบจีน ดูดวงจีนโป๊ยหยี่สี่เถี่ยว ดูหลักปี ปีชง ปีฮะ ใช้ปีนักษัตรแบบจีน ตาม ปฏิทินโหราศาสตร์จีน เพราะตำราการผูกคำทำนายต่างกัน (โหราศาสตร์แบบไทยไม่มีทำนายเรื่อง ปีชง) และปีนักษัตรจีนเองก็มีใช้อยู่ 2 แบบตัดรอบปีนักษัตรใน วันสารทลิบชุน (ปฏิทินโหราศาสตร์จีน ออนไลน์นี้จะใช้กฏเกณฑ์แบบดั้งเดิม จะเปลี่ยนในวันสารทลิบชุน) ซึ่งเป็นสารทแรกของปี ประมาณช่วงวันที่ 3 - 5 กุมภาพันธ์ และมีบางตำราใช้วันตรุษจีนเป็นวันเปลี่ยนนักษัตร
ทำไมปีนักษัตรในสูติบัตร จึงไม่ตรงกับปีนักษัตร ตอนดูดวงชะตา ?
สูติบัตรเป็นเอกสารทางราชการเพียงอย่างเดียว ที่มีบันทึกวันเกิดแบบจันทรคติ โดยใช้เปลี่ยนปีนักษัตร วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย (๑)* ซึ่งไม่ตรงกับ ปีนักษัตรตามคติพราหมณ์ ที่เปลี่ยนปีนักษัตรในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า(๕) ตามโบราณ และปีนักษัตรในสูติบัตรเองก็ไม่ถูกใช้ที่ไหนเลย แทบไม่มีแบบฟอร์มราชการหรือเอกชนที่ไหนให้กรอกว่า เกิดกี่ค่ำ เดือน ปีนักษัตรอะไร เวลากี่โมงกี่ยาม เว้นแต่ตอนดูดวง ทางโหราศาสตร์ พิธีกรรม เท่านั้น
บ่อยครั้งตอนดูดวง หมอดูจะถาม วันเดือนปี เวลาเกิด ทางสุริยคติสากลที่มีบันทึกในสูติบัตร แล้วนำมาเทียบในปฏิทินจันทรคติให้เอง คือ ไม่ใช้ ปีนักษัตรจากสูติบัตร ซึ่งก็ไม่แปลกที่นักษัตรตั้งต้นทำนายไม่ตรงกับสูติบัตร หรือที่เราเข้าใจ และหมอดูหรือนักพยากรณ์มักจะไม่อธิบายเพราะเรื่องนี้ค่อนข้างซับซ้อนใช้เวลาอธิบาย
*ก่อนหน้ามีประกาศ หนังสือเวียนกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0310.1/ว4 เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2539 สูติบัตรถูกบันทึกหลายแบบ ขึ้นอยู่กับส่วนปกครองนั้น ๆ หรือผู้บันทึก ไม่ตรงกัน มีหลายแบบ เช่น เปลี่ยนนักษัตรใน ๑ ค่ำ เดือนห้า(๕) , วันตรุษจีน , วันที่ 1 เมษายน , วันที่ 13 เมษายน หรือ วันที่ 1 มกราคม ตามปฏิทินสากลที่พิมพ์ปัจจุบันก็มี
สำหรับปีนักษัตรก็ประมาณนี้ครับ คำถามเรื่องนี้จะเกิดกับผู้ที่เกิดช่วง เดือนธันวาคม ถึง เดือนเมษายน เพราะเป็นช่วงที่ปีนักษัตรทับซ้อนกัน นอกจากนี้ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจและมักสับสนในการใช้งานกัน คือ การนับวันทางโหราศาสตร์หรือวันทางจันทรคติ ... ดูรายละเอียด
ที่มา/อ้างอิง/ผู้เขียน : จักรกฤษณ์ แร่ทอง - มายโหรา.คอม
หมายเหตุ : เนื้อหาข้างต้นเผยแพร่แก่สาธารณะเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา/วิทยาทานเท่านั้น
บันทึก/เผยแพร่ : วันอังคารที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2555
อ่าน ใช้งาน
แล้ว
เขียนรีวิว และคลิก Like , Share ให้ด้วยนะครับ :)
5.00
★ จาก
8 รีวิว