วันเข้าพรรษา
หากพูดถึงวันเข้าพรรษา หลายคนมักจะนึกถึงเทียนพรรษา การแห่เทียนโดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี ที่จะมีพิธีแห่เทียนพรรษาที่ยิ่งใหญ่ และมีการแกะสลักเทียนพรรษาอย่างสวยงาม กลายเป็นประเพณีและธรรมเนียม ซึ่งทำให้หลายๆคนสนใจและเดินทางไปสัมผัสกับบรรยากาศของเทศกาลแห่เทียนเข้าพรรษา กันถึงที่เลยทีเดียว ซึ่งถือเป็นการอนุรักษ์ประเพณีไทยๆ และยังได้รับคงวามสนใจจากชาวต่างชาติมากมาย กลายเป็นวันแห่งการท่องเที่ยวอีกวันหนึ่งด้วย
ความหมายของวันเข้าพรรษา
การเข้าพรรษา ตาม หมายถึง การอธิษฐานอยู่ประจำที่ไม่เที่ยวจาริกไปยังสถานที่ต่างๆ เว้นแต่มีกิจจำเป็นจริง ๆ ซึ่งเป็นพุทธบัญญัติ ที่พระภิกษุทุกรูปจะต้องปฏิบัติตาม ช่วงจำพรรษาจะอยู่ในช่วงฤดูฝนคือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือนแปด(๘) ถึง วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนสิบเอ็ด(๑๑) ของทุกปี ดังนั้น วันเข้าพรรษา จึงเป็นวันที่พระภิกษุในพระพุทธศาสนาอยู่ประจำในวัด และไม่ไปค้างแรมในที่อื่น ตลอด 3 เดือนในฤดูฝน
วันเข้าพรรษาของประเทศไทย
เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่ง ที่พระสงฆ์เถรวาทจะพักประจำอยู่ที่วัดโดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกว่า จำพรรษา เว้นแต่มีกิจธุระคือเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในเดียวนั้น ก็ให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืน เรียกว่า "สัตตาหะ พิธีเข้าพรรษานี้ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง ละเว้นไม่ได้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม ช่วงจำพรรษาจะอยู่ในช่วงฤดูฝนคือแรม ๑ ค่ำ เดือนแปด(๘)เรียกว่า "ปุริมพรรษา" จน ถึง ๑๕ ค่ำ เดือนสิบเอ็ด(๑๑)หรือวันออกพรรษาของทุกปี โดยวันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องมาจากวันอาสาฬหบูชา (วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนแปด(๘)) ซึ่งพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั้งพระมหากษัตริย์และคนทั่วไปได้สืบทอดประเพณีปฏิบัติการทำบุญในวันเข้าพรรษามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
วันเข้าพรรษาต่างประเทศ
พระสงฆ์ต่างก็ถือว่าวันเข้าพรรษาเป็นวันเริ่มต้นการถือศีลและปฏิบัติธรรมไปจนครบ 3 เดือน และกำหนดให้วันเข้าพรรษาให้เป็นวันเริ่มการทำความดีเช่นเดียวกัน สำหรับในประเทศอินเดียไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันเข้าพรรษาและวันอาสาฬหบูชาให้เท่าเทียมกับวันวิสาขบูชา และไม่ได้กำหนดให้วันเข้าพรรษาและวันอาสาฬหบูชาเป็นวันหยุดราชการทั่วประเทศ แต่ในปัจจุบันกลับมีพระสงฆ์จากประเทศ ไทย พม่า ศรีลังกา และบางส่วนของญี่ปุ่น ฯลฯได้เดินทางไปทำพิธีวันเข้าพรรษาที่ประเทศอินเดียและประเทศเนปาล ยังสถานที่สำคัญต่างๆ ที่เคยเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า ๆ เช่น พุทธคยา เมืองกุสินารา สวนลุมพินี เมืองกบิลพัสดุ์
วันที่ใช้จัดงานวันเข้าพรรษา
วันเข้าพรรษาส่วนใหญ่จะไม่ค่อยตรงกันทุกปี เพราะถือเอาแรม ๑ ค่ำ เดือนแปด(๘) ถ้าปีใด มีเดือนแปด(๘)สองหน (ปีอธิกมาส) ก็เลื่อนไปในวันแรม ๑ ค่ำ เดือนแปดหลัง(๘๘) เป็นวันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่ต่อเนื่องมาจากวันอาสาฬหบูชา
ปฏิทินวันเข้าพรรษา
วันเข้าพรรษา พ.ศ.2558 ตรงกับ วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2558 / วันศุกร์ แรม ๑ ค่ำ เดือนแปดหลัง(๘๘) ปีมะแม
วันเข้าพรรษา พ.ศ.2559 ตรงกับ วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2559 / วันพุธ แรม ๑ ค่ำ เดือนแปด(๘) ปีวอก
วันเข้าพรรษา พ.ศ.2560 ตรงกับ วันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2560 / วันอาทิตย์ แรม ๑ ค่ำ เดือนแปด(๘) ปีระกา
วันเข้าพรรษา พ.ศ.2562 ตรงกับ วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2562 / วันพุธ แรม ๑ ค่ำ เดือนแปด(๘) ปีกุน
วันเข้าพรรษา พ.ศ.2563 ตรงกับ วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2563 / วันจันทร์ แรม ๑ ค่ำ เดือนแปด(๘) ปีชวด
วันเข้าพรรษา พ.ศ.2564 ตรงกับ วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2564 / วันอาทิตย์ แรม ๑ ค่ำ เดือนแปดหลัง(๘๘) ปีฉลู
วันเข้าพรรษา พ.ศ.2565 ตรงกับ วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2565 / วันพฤหัสบดี แรม ๑ ค่ำ เดือนแปด(๘) ปีขาล
วันเข้าพรรษา พ.ศ.2566 ตรงกับ วันพุธที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2566 / วันพุธ แรม ๑ ค่ำ เดือนแปดหลัง(๘๘) ปีเถาะ
วันเข้าพรรษา พ.ศ.2567 ตรงกับ วันอาทิตย์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2567 / วันอาทิตย์ แรม ๑ ค่ำ เดือนแปด(๘) ปีมะโรง
วันเข้าพรรษา พ.ศ.2568 ตรงกับ วันศุกร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2568 / วันศุกร์ แรม ๑ ค่ำ เดือนแปด(๘) ปีมะเส็ง
ประวัติของวันเข้าพรรษา
วันเข้าพรรษา มีความสำคัญต่อพุทธศาสนิกชนและเป็นวันสำคัญของพระพุทธศาสนา ซึ่งถือว่าเป็นกรณียกิจพิเศษสำหรับพระภิกษุสงฆ์ จะมีการประชุมกันในพระอุโบสถ ไหว้พระสวดมนต์ ขอขมาซึ่งกันและกัน เสร็จแล้วก็ประกอบพิธีเข้าพรรษา ภิกษุจะอธิษฐานใจตนเองว่า ตลอดฤดูกาลเข้าพรรษานี้ตนเองจะไม่ไปไหน
ชาวบ้าน กลุ่มหนึ่งพากันกล่าวตำหนิพระสงฆ์ ที่เดินย่ำไปเหยียบข้าวกล้าของชาวนาเสียหาย ไม่ยอมหยุดยั้งแม้ในระหว่างฤดูฝน เพราะแม้แต่ฝูงนกยังหยุดพักผ่อนไม่ท่องเที่ยวไปไหน และเมื่อเรื่องนี้ทราบถึงพระพุทธเจ้าพระองค์จึงทรงรับสั่งให้พระสงฆ์ประชุมแล้วจึงทรงบัญญัติเรื่องการเข้าพรรษาไว้ว่า "อนุชานามิ ภิกขะเว อุปะคันตุง" หมายถึง "ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้พวกเธออยู่จำพรรษา"
สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์จำพรรษาอยู่ที่วัดตลอด 3 เดือน เพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักเพื่อเผยแพร่ศาสนาไปตามสถานที่ต่าง ๆเพราะอยู่ในช่วงฤดูฝน จะเป็นไปด้วยความยากลำบาก และเพื่อป้องกันความเสียหายจากการอาจเดินเหยียบย่ำธัญพืชของชาวบ้านที่ปลูกลงแปลงในฤดูฝน และเป็นช่วงเวลาหรือโอกาสสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์จะได้มาอยู่จำพรรษารวมกัน เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ด้วย
พุทธศาสนิกชนชาวไทย ได้เริ่มบำเพ็ญกุศลเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษานี้ ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ดังข้อความในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่า "พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองสุโขทัยนี้ทั้งชาวแม่ชาวเจ้า ทั้งท่วยปั่วท่วยนาง ลูกเจ้าลูกขันทั้งสิ้นทั้งหลายทั้งหญิงทั้งชายฝูงท่วยมีศรัทธาในพุทธศาสน์ มักทรงศีล เมื่อพรรษาทุกคน" ซึ่งนอกจากการรักษาศีลแล้ว พุทธศาสนิกชนไทยยังได้บำเพ็ญกุศลอื่น อย่างการถวาย เตียงตั่ง เสื่อสาด ผ้าจำนำพรรษา อาหารหวานคาวยารักษาโรค และธูปเทียนจำนำพรรษา เพื่อบูชาพระรัตนตรัยในเดือนแปด(๘)
ในปี พ.ศ.2551 รัฐบาลไทยได้ประกาศให้วันเข้าพรรษาเป็น "วันงดดื่มสุราแห่งชาติ" อีกด้วย และประกาศห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วราชอาณาจักรในปีถัดมาทั้งนี้เพื่อรณรงค์ให้ชาวไทยตั้งสัจจะอธิษฐานงดการดื่มสุราในวันเข้าพรรษาและในช่วง 3 เดือนระหว่างฤดูเข้าพรรษา เพื่อเป็นการส่งเสริมค่านิยมที่ดีให้แก่สังคมไทย
กิจกรรมที่นิยมทำในวันเข้าพรรษา
ในวันเข้าพรรษาและช่วงฤดูพรรษากาลตลอดทั้ง 3 เดือน พุทธศาสนิกชนชาวไทยถือเป็นโอกาสอันดีที่จะบำเพ็ญกุศลด้วยการ
ทำกิจกรรมต่าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับทางพระพุทธศาสนา ซึ่งการที่ชาวไทยได้มีโอกาสทำบุญในวันสำคัญทางศาสนานี้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อตัวเอง ซึ่งอาจได้ทำบุญกันแบบพร้อมหน้าครอบครัวด้วยเพราะเป็นวันหยุดต่อเนื่องจากวัน อาสาฬหบูชา
เข้าวัดทำบุญ
เป็นอีกหนึ่งวันที่พุทธศาสนิกชนชาวไทย จะได้เข้าวัดทำบุญใส่บาตร ฟังพระธรรมเทศนา หลังจากวัน อาสาฬหบูชา เรียกว่า ได้มีโอกาสทำบุญติดกันถึงสองวัน เลยทีเดียว นอกจากการทำบุญแล้ว ยังมีการถวายหลอดไฟ , เทียนเข้าพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน แก่พระสงฆ์ด้วย เพื่อสำหรับให้พระสงฆ์ได้ใช้สำหรับการอยู่จำพรรษา มีชายไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชนหลลายคน ที่ นิยมถือบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์เพื่ออยู่จำพรรษาตลอดฤดูพรรษากาลทั้ง 3 เดือน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "บวชเอาพรรษา"
หล่อเทียนพรรษา
ก่อนวันเข้าพรรษา ที่มักจะเห็นกันบ่อยๆ ก็คือพิธีหล่อเทียนจำนำพรรษา ซึ่งตามสถานศึกษา นักเรียนก็จะได้ทำกิจกรรมนี้ในโรงเรียน หรือตามวัด สถานที่ราชการ และตามห้างสรรพสินค้า ที่จะจัดให้มีการหล่อเทียน แม้ว่าเทียนอาจไม่ได้มีความจำเป็นที่ต้องใช้สักเท่าไหร่แล้ว แต่ก็เป็นกิจกรรมส่งเสริมและถือว่าให้ความสำคัญกับประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาที่สืบต่อกันมานั่นเอง
ถวายเทียนพรรษา
เมื่อทำการหล่อเทียนพรรษาเสร็จแล้ว ก็ต้องมีพิธีถวายเทียนพรรษา แล้วก็มีประเพณี พิธีแห่เทียนจำนำพรรษาที่ชาวพุทธนิยมทำกัน ซึ่งจะมีขบวนสาธุชน ดอกไม้ อาจมีการเวียนรอบพระอุโบสถก่อน แล้วจึงนำไปถวายแด่คณะสงฆ์วัดนั้นๆ สมัยนี้นอกจากเทียนแล้ว การถวายหลอดไฟ และอุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งก็เป็นการถวายแสงสว่างให้กับพระภิกษุสงฆ์เหมือนกับเราได้ถวายเทียนพรรษานั่นเอง ซึ่งถือเป็นอีกกิจกรรมหนึ่ง
งดเว้นอบายมุขต่างๆ
สำหรับกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา ก็เป็นกิจกรรมที่มีหน่วยงานให้การสนับสนุน แม้ว่า 3 เดือน อาจไม่เพียงพอต่อการงดเหล้า เพราะเหล้าไม่ดีต่อสุขภาพ แต่อย่างน้อยก็เป็นสิ่งดีๆ ที่เราจะได้เริ่มต้นตั้งใจในการทำความดีเพื่อตนเองและอาจมีกำลังใจในการเลิกเหล้าไปตลอดชีวิตเลยก็ได้
ข้อควรระวังและสิ่งที่ไม่ควรทำในกิจกรรมวันเข้าพรรษา
การงดเว้นบาปและความชั่วต่างๆ เป็นหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ต้องการให้ชาวไทยทุกคนยึดมั่น และยึดถือต่อๆ กันมา ในสิ่งที่ดีๆ การได้เริ่มต้นทำสิ่งดีๆ ในช่วงสามเดือนนี้ อาจจะทำให้เป็นการเริ่มต้นที่ดีของวันต่อๆไป แต่ข้อควรระวัง และสิ่งที่ไม่ควรทำในวันเข้าพรรษาที่ไม่น่าจะทำเลยก็คือ
การทำบาป
เพราะวันเข้าพรรษา ถือเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา ควรงดเว้นจากบาป ความชั่ว และอบายมุขต่างๆถือว่าเป็นสิ่งที่ดี บางคนไม่ได้ตั้งใจจะรักษาศีล เพราะไม่ได้สมาทานไว้ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ที่จะทำให้เสียศีล ก็จะสามารถใช้สติและคิดงดเว้นได้ขณะนั้น เช่น เจอกระเป๋าเงิน เจ้าของวางไว้ คิดจะหยิบไป แต่แล้วช่วงเวลานั้น ก็เกิดละอายใจและกลัวบาป จึงไม่ขโมย
อบายมุข
การงดเว้น ความชั่ว และอบายมุข ด้วยการรักษาศีล 5 หรือศีล 8 จากพระสงฆ์ พยายามไม่ทำให้ศีลขาด แม้จะมีสิ่งยั่วยวนภายนอกมาเร้า เช่นการพนันทุกชนิด ถือว่าเป็นการงดเว้นด้วยความตั้งใจที่จะปฏิบัติ เป็นความตั้งใจที่จะรักษาศีลอยู่ตลอดเวลา ควรใช้สติก่อนที่จะลงมือเล่น เพราะอาจจะทำให้เสียทรัพย์สินจนหมดตัว ทำให้ขาดสติ และอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
ดื่มเหล้า
เป็นหนึ่งในอบายมุข เหล้าเป็นของมึนเมา ที่จะทำให้ผู้ดื่มขาดสติ ซึ่งจะนำมาต่อการเสียทรัพย์สินหรือชีวิตเช่นกัน จึงได้มีประกาศออกมาให้วันเข้าพรรษา เป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ อีกด้วย จึงเป็นที่มาของคำว่า "งดเหล้าเข้าพรรษา" ซึ่งอบายมุข หรือ ช่องทางของความเสื่อม มีด้วยกัน 6 ทาง คือ 1.ติดสุราและของมึนเมา 2.ชอบเที่ยวกลางคืน 3.ชอบเที่ยวดูการละเล่น 4.เล่นการพนัน 5.คบคนชั่วเป็นมิตร 6.เกียจคร้านการงาน
เพราะว่าคนส่วนใหญ่ก็ยังเป็น ปุถุชน ที่ยังหลงมัวเมาอยู่ในกิเลส ตัณหาที่หลอกล่อให้เราติดใจในรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส
การกระทำความดีนั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์พึงปฏิบัติอยู่แล้ว ส่วนการทำความชั่ว หากได้ลองทำสักครั้งหนึ่งอาจยากที่จะถอนตัว คนเราจึงเกิดความทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุด
แนวทางการส่งเสริมกิจกรรมในวันเข้าพรรษา
เพราะวันเข้าพรรษาเป็นวันสำคัญทางศาสนา เป็นประเพณีปฏิบัติของชาวพุทธ ที่ได้กระทำมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลในพุทธศาสนา วัฒนธรรม และประเพณีมาเป็นเวลายาวนาน เป็นการแสดงออกถึงการยึดมั่นสืบสานงานบุญทางพุทธศาสนาและเป็นกาละเป็นการร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี ซึ่งการส่งเสริมแนวทางการจัดกิจกรรมวันเข้าพรรษาก็เพื่อแสดงถึงวิถีชีวิตของชุมชน การมีส่วนร่วมของชุมชน แสดงให้เห็นถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และความสามัคคีของคนในชุมชน
ร่วมทำกิจกรรมในชุมชน
การหล่อเทียนจำนำพรรษา หรืองานแห่เทียนพรรษา เป็นงานที่ทำให้วัยรุ่น หนุ่มสาว เยาวชน ได้มีโอกาสใกล้ชิดและสัมผัส กับศิลปวัฒนธรรมอย่างใกล้ชิด จะมีทั้งผู้สูงอายุและคนหนุ่มสาว ซึ่งรวมถึงการทำบุญตักบาตร และกิจกรรมดีๆร่วมกัน ซึ่งคาดหวังได้ว่า ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น จะสืบทอดต่ออีกยาวนาน
ส่งเสริมศาสนา กิจกรรมการศึกษา และวัฒนธรรม
เพื่อเป็นการส่งเสริม สืบสาน และอนุรักษ์ ประเพณีวัฒนธรรม ของท้องถิ่นที่มีมาแต่โบราณ ให้ยังคงอยู่ โดยทำการส่งเสริมการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ซึ่งจะช่วยบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีกับคนไทยตลอดไป
การจัดกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับวันเข้าพรรษา
การจัดกิจกรรมวันเข้าพรรษาเพื่อให้เด็ก และเยาวชน รวมถึงประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมกันส่งเสริมทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดี ที่ทำให้ประชาชนในชุมชน ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ตลอดจนการร่วมแรง ร่วมใจ ของหน่วยงานต่าง ๆ และภาคประชาชน เพื่อให้ประเพณีไทย สืบต่อไป
ปลูกฝังประเพณีวัฒนธรรมไทย
เพื่อให้เกิดความรักความสามัคคีของคนในชุมชน และทำให้ประชาชนจะได้ร่วมกันทำบุญ การปลูกฝังขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่น ให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชน ถือว่าเป็นการยื่นข้อมูลดีๆ ให้กับเยาวชนเพื่อปลูกฝังแต่สิ่งที่ดีจะได้ช่วยกันรักษาธรรมเนียมประเพณีนี้ตลอดไป
ไม่ว่าจะเป็นวิธีใด การเน้นแนวทางสำคัญ ที่จะนำไปสู่การอนุรักษ์ขนมธรรมเนียมประเพณี รวมไปถึง วันสำคัญต่างๆ ที่สามารถสืบทอดต่อไปจนถึงรุ่นลูก รุ่นหลานกันเลยทีเดียว