วันเทศบาล
ภารกิจของเทศบาลที่ประชาชนต่างพากันเข้าใจ ก็คือการแจ้งเหตุต่างๆ และการดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในส่วนของราชการ หรือแบบชาวบ้านร้องทุกข์ ซึ่งเคยมีคนพูดเอาไว้ว่าเขตเทศบาลต้อง น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี และ ไม่มีขยะ
ความหมายของวันเทศบาล
เทศบาล หมายถึง รูปแบบการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในเขตชุมชนเมือง เป็นหน่วยการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยการจัดตั้งขึ้นในเขตชุมชนที่มีความเจริญและ ใช้ในการบริหารเมืองเป็นหลัก
เทศบาลในประเทศไทย
การปกครองรูปแบบเทศบาลเป็นการกระจายอำนาจให้แก่ท้องถิ่นดำเนินการปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเทศบาล เป็นรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งที่ใช้ในประเทศไทย เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเริ่มจากการจัดตั้งสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ.116 พระองค์มีพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ในส่วนภูมิภาค มีการตราพระราชบัญญัติจัดการสุขาภิบาลท่าฉลอม และมีวิวัฒนาการเรื่อยมา จนถึงปี พ.ศ.2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และมีการกระจายอำนาจการปกครองที่สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
ในปี พ.ศ.2476 มีการจัดตั้งเทศบาลขึ้น โดยมีการตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล พ.ศ.2476และมีการยกฐานะสุขาภิบาลขึ้นเป็นเทศบาลหลายแห่ง จากนั้นมีการแก้ไขและเปลี่ยนแปลงยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับเทศบาลอยู่หลายครั้ง จนในที่สุดได้มีการตราพระราชบัญญัติเทศบาล ในปี พ.ศ.2496 และได้ยกเลิกพระราชบัญญัติเดิมทั้งหมด และในปัจจุบันเทศบาลทั่วประเทศมีเกือบทุกจังหวัด ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้มีการประกาศ กำหนดให้ 24 เมษายน เป็นวันเทศบาล
วันที่ใช้จัดกิจกรรมวันเทศบาล
กำหนดให้ 24 เมษายน เป็นวันเทศบาล ของทุกปี
ปฏิทินวันเทศบาล
วันเทศบาล พ.ศ.2558 ตรงกับ วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ.2558 / วันศุกร์ ขึ้น ๗ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีมะแม
วันเทศบาล พ.ศ.2559 ตรงกับ วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน พ.ศ.2559 / วันอาทิตย์ แรม ๓ ค่ำ เดือนห้า(๕) ปีวอก
วันเทศบาล พ.ศ.2560 ตรงกับ วันจันทร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ.2560 / วันจันทร์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือนห้า(๕) ปีระกา
วันเทศบาล พ.ศ.2561 ตรงกับ วันอังคารที่ 24 เมษายน พ.ศ.2561 / วันอังคาร ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีจอ
วันเทศบาล พ.ศ.2562 ตรงกับ วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ.2562 / วันพุธ แรม ๕ ค่ำ เดือนห้า(๕) ปีกุน
วันเทศบาล พ.ศ.2563 ตรงกับ วันศุกร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ.2563 / วันศุกร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีชวด
วันเทศบาล พ.ศ.2564 ตรงกับ วันเสาร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ.2564 / วันเสาร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีฉลู
วันเทศบาล พ.ศ.2565 ตรงกับ วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน พ.ศ.2565 / วันอาทิตย์ แรม ๘ ค่ำ เดือนห้า(๕) ปีขาล
วันเทศบาล พ.ศ.2566 ตรงกับ วันจันทร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ.2566 / วันจันทร์ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีเถาะ
วันเทศบาล พ.ศ.2567 ตรงกับ วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ.2567 / วันพุธ แรม ๑ ค่ำ เดือนห้า(๕) ปีมะโรง
วันเทศบาล พ.ศ.2568 ตรงกับ วันพฤหัสบดีที่ 24 เมษายน พ.ศ.2568 / วันพฤหัสบดี แรม ๑๒ ค่ำ เดือนห้า(๕) ปีมะเส็ง
ประวัติวันเทศบาล
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดให้มีการปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในรูปแบบสุขาภิบาล ที่ สุขาภิบาลตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2441 ซึ่งพระองค์ได้ทรงปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดินของไทยให้ทันสมัย เช่นเดียวกันกับนานาอารยประเทศ พ.ศ.2475 ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย ได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2476 ซึ่งได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบเทศบาล จนกระทั่งได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ.2496 จนถึงปัจจุบัน
เทศบาลเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีฐานะเป็นตัวแทนของรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทยเพื่อแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการแก่ประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างดีที่สุด ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งต่อการให้บริการสาธารณะ เทศบาลเป็นองค์กรที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการบำบัดทุกข์บำรุงสุข และสร้างความเจริญต่างๆ ให้แก่ประชาชนในเขตชุมชนเมือง
เทศบาลต้องจัดบริการสาธารณะอย่างเต็มความสามารถทุกด้าน เรียกว่าเขตเทศบาลต้องน้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ นำสู่คุณภาพชีวิติที่ดี เพื่อตระหนักถึงบทบาท และความสำคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบเทศบาล กระทรวงมหาดไทยจึงได้มีการประกาศ กำหนดให้วันที่ 24 เมษายนของทุกปีเป็น "วันเทศบาล" นับตั้งแต่ปี 2533 เป็นต้นไป ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและพัฒนาได้ด้วยตนเอง
เพื่อให้บรรลุปรัชญาแห่งรากฐานประชาธิปไตยของเทศบาลคือ เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ด้วยบทบาทหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข เชิงบริการของเทศบาลก่อเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง วันเทศบาล จึงมีความหมายต่อคนเทศบาลที่จะต้องพัฒนาตน พัฒนางาน และก้าวต่อไปอย่างมุ่งมั่นเคียงข้างการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ว่าร่วมคิด ร่วมทำ หรือร่วมตรวจสอบ นั่นเอง
กิจกรรมวันเทศบาล
ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยโดยกรมการปกครอง ได้ร่วมกับสมาคมสันนิบาตแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท) ได้จัดให้มีโครงการวันเทศบาล ในวันที่ 24 เมษายนของทุกปี เพื่อเชิดชูความสำคัญของการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบเทศบาล ให้ปรากฏแก่ประชาชนโดยทั่วกัน โดยมีกิจกรรมพิเศษ ต่างๆ ซึ่งสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเทศบาลทั่วประเทศ ได้จัดกิจกรรมเชิงประชาสัมพันธ์เพื่อเสริมให้ข่าวสารกว้างขวางขึ้นโดยอาศัยสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุโทรทัศน์
ทำบุญตักบาตร
เป็นกิจกรรมทางศาสนา ที่ทางเทศบาล ได้จัดให้มีขึ้น โดยอาจให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม ในการเข้ารับฟังธรรมะ หรือ ร่วมทำพิธีทางศาสนา
กิจกรรมการแข่งขันกีฬา
การจัดกิจกรรมกีฬา ซึ่งอาจจะจัดขึ้นที่สนามของเทศบาล หรือส่วนกลาง เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับพี่น้องประชาชน ได้มีกิจกรรมกีฬาร่วมกัน เพื่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่ชุมชน
จัดบอร์ดแสดงผลงาน
กิจกรรมมีความหลากหลาย แตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่ แต่หลักที่คล้ายคลึงกัน คือ การจัดสัปดาห์บริการประชาชน หรือจัดบอร์ด นิทรรศการ เพื่อให้ประชาชาได้ทราบถึงการทำงานที่ผ่านมา ว่าพนักงานเทศบาลได้มีผลงานอะไรเพื่อสังคมบ้าง
ช่วยทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม
กิจกรรมพัฒนาและนันทนาการ เท่าที่โอกาสอำนวย อาจทำกิจกรรมการปลูกต้นไม้และปล่อยปลา หรือร่วมกันทำความสะอาดถนน ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างเทศบาลและประชาชน
หน้าที่ของหน่วยงานเทศบาล
การได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของเมือง เพื่อพัฒนาให้เกิดประโยชน์ และความสุขอย่างถ้วนหน้า เป็นอีกหนึ่งหน้าที่ของหน่วยงานเทศบาล เทศบาลจัดบริการสาธารณะอย่างเต็มความสามารถทุกด้าน กับคำนิยามที่ตั้งกันไว้ว่า น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ นำสู่คุณภาพชีวิติที่ดี นี่ล่ะคือหน้าที่เทศบาล
ดูแลทุกข์สุขของประชาชน
การพัฒนาการบริหารการจัดการของตนเองภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย และการดูแลทุกข์สุขของประชาชนไปพร้อมๆ กัน รวมถึงบริบทของกฎหมายที่แก้ไขปรับปรุงเป็นระยะ โดยยึดถือฉบับแม่บทคือ พระราชบัญญัติเทศบาล และมีการแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน
ภารกิจของเทศบาล
เรียกว่าเป็นภาพแห่งการจดจำที่ประชาชนมีต่อเทศบางคือ การดำเนินการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ช่วยเหลือชาวชุมชนในเขตเทศบาลต้อง น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี ไม่มีขยะ เป็นภารกิจเดิมๆ ของเทศบาลที่ประชาชนเข้าใจและรับรู้ได้ ซึ่งมีการเน้นเรื่องดังกล่าว แต่เทศบาลก็มิได้ละเลยเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น
ให้ความสำคัญเรื่องต่างๆ ที่ไม่เคยละเลย
การให้ความสำคัญในเรื่องของการพัฒนาด้านการศึกษา การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมีระบบ การสาธารณสุข การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมประเพณี การเพิ่มรายได้ การจัดสวัสดิการ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการพัฒนาชุมชน ขณะเดียวกันภายในองค์กรจะมีการพัฒนา เช่น การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรเทศบาลให้พร้อมทั้งวิชาการ คุณธรรม และจริยธรรม
การสร้างศูนย์การเรียนรู้
เทศบาลจะเป็นพื้นที่ที่พยายามทำให้เกิดความเป็นบ้านที่ครบครันด้วยความน่าอยู่ นั่นคือ เมืองอยู่ดี คนมีสุข สิ่งแวดล้อมยั่งยืน การสร้างองค์กรให้เป็นศูนย์การเรียนรู้และบริหารจัดการโดยหลักการบริหารจัดการที่ดี ด้วยทิศทางการบริหารแนวใหม่ เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้และพัฒนา และบริหารจัดการที่ดี และมีการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขเสียสละและรับผิดชอบที่จะพัฒนาท้องถิ่นของตนให้เจริญก้าวหน้าต่อไป
นอกจากนี้ เทศบาลยังมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพื่อให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำ รักษาความสะอาดของถนน หรือทางเดินและที่สาธารณะรวมทั้งการกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล ป้องกันและระงับโรคติดต่อ ให้มีเครื่องใช้ในการดับเพลิง ให้ราษฎรได้รับการศึกษาอบรม ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุและผู้พิการ บำรุงศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
แนวทางการส่งเสริมกิจกรรมวันเทศบาล
เทศบาลตระหนักดีว่าไม่ว่าจำนวนเทศบาลจะมีมากน้อยเพียงใด เทศบาลต้องหลอมรวมให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวและมีความมั่นคง แข็งแรงพร้อมที่จะรับภาระหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ประชาชน วันเทศบาลแต่ละปีอาจเป็นห้วงเวลาแห่งความสุขและ ความชื่นชมยินดี
เพื่อระลึกความสำคัญ
การจัดกิจกรรมวันเทศบาลขึ้นมา ก็เพื่อเป็นการระลึกถึงความสำคัญและความเป็นมาของการก่อกำเนิดเทศบาล เพื่อพัฒนาชุมชนให้เกิดประโยชน์ และความสุขอย่างถ้วนหน้า
เพื่อให้เห็นความสำคัญ
การจัดกิจกรรมวันเทศบาลขึ้นมา ก็เพื่อให้พนักงานเทศบาล ไม่ว่าจะเป็นพนักงานเทศบาลสามัญ พนักงานสถานธนานุบาล พนักงานครูเทศบาล พนักงานจ้างตามภารกิจ พนักงานจ้างทั่วไป ได้ตระหนักเห็นและเห็นถึงความสำคัญ ของการปกครองท้องถิ่น ในรูปแบบเทศบาล ตลอดจนให้บุคคลากรต่างๆ ได้มองเห็นความสำคัญ ของการบริการ และการอำนวยความสะดวก ความเสมอภาค และการสร้างความเป็นธรรม ให้กับประชาชนที่มาใช้บริการของเทศบาล
เพื่อให้เกิดความสามัคคี
การจัดกิจกรรมวันเทศบาลขึ้นมา เพื่อให้บุคลากรเทศบาลมีความรักความผูกพัน ระหว่าง เพื่อร่วมงาน และประชาชนซึ่งความสามัคคี จะก่อให้เกิดผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการมากยิ่งขึ้น
แม้นว่าในข้อกฎหมายจะได้กำหนดภารกิจหน้าที่ของเทศบาลเอาไว้อย่างกว้างขวาง แต่ก็มิได้หมายความว่าเทศบาลจะสามารถกระทำได้ในทุกหน้าที่ เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมายดังกล่าว ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง หรือมีกฎหมายอื่นมาแทรแซงนั่นเอง