วันสุนทรภู่
"ถึงม้วยดินสิ้นฟ้ามหาสมุทร ไม่สิ้นสุดความรักสมัครสมาน แม้เกิดในใต้ฟ้าสุธาธาร ขอพบพานพิศวาสไม่คลาดคลา" ขึ้นกลอนรักของกวีเอกแห่งเมืองไทย ท่านสุนทรภู่มา ทำให้หลายๆ คนนึกอยากจะแต่งกลอนขึ้นมาบ้าง ด้วยสัมผัสและการเล่นคำต่างๆ ลูกเล่นต่างๆ ทำให้หลายๆ คนยึดถือเป็นไอดอลและเป็นแบบอย่างในการแต่งกลอนกันมานักต่อนัก แม้ในปัจจุบัน การแต่งกลอนอาจจะดูเชยไปแล้ว แต่ก็ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กัน เหมือนอย่างที่คนโบราณมักจะพูดว่า "คนไทยเจ้าบทเจ้ากลอน" นั่นเอง
ความหมายของวันสุนทรภู่
วันสุนทรภู่ หมายถึง วันคล้ายวันเกิดของพระสุนทรโวหาร หรือสุนทรภู่ เจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวัง ซึ่งมีผลงานด้านบทกลอนที่มีคุณค่าแก่แผ่นดินเป็นจำนวนมาก และเป็นที่ประจักษ์แกสายตาชาวไทย จนสร้างชื่อเสียงและผลงานตราบจนทุกวันนี้
ประวัติและความเป็นมาวันสุนทรภู่
เพราะได้รับฉายาว่าเป็น "เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย" เพราะได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านงานวรรณกรรม หรือ "มหากวีแห่งรัตนโกสินทร์" เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักกวีชาวไทยที่มีชื่อเสียงก้องโลกที่ชื่อ "สุนทรภู่" โดยเฉพาะกลอนนิทานเรื่อง "พระอภัยมณี"
"วันที่ 26 มิถุนายน" ของทุกปีคือ "วันสุนทรภู่" องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(UNESCO) ซึ่งเป็นผู้ที่มีหน้าที่ส่งเสริมและเผยแพร่ผลงาน ด้านวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกต่าง ๆ ทั่วโลก ด้วยการประกาศ ยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก โดย สุนทรภู่ ถือเป็นบุคคลขอประเทศไทยที่ได้รับการยกย่อง ซึ่งผลงานและชีวประวัติ ได้มีการเผยแพร่เกียรติคุณและผลงานของผู้มีผลงานดีเด่นทาง ด้านวัฒนธรรมระดับโลกให้ปรากฏแก่มวลสมาชิกทั่วโลก และ เพื่อเชิญชวนให้ประเทศไทยส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม เฉลิมฉลองร่วมกับประเทศที่มีผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ จึงได้จัดให้มีงานวันรำลึก สุนทรภู่ขึ้นมา
วันที่ใช้จัดกิจกรรมวันสุนทรภู่
วันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปีคือ "วันสุนทรภู่" เป็นวันที่ใช้จัดกิจกรรมวันสุนทรภู่
ปฏิทินวันสุนทรภู่
วันสุนทรภู่ พ.ศ.2558 ตรงกับ วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2558 / วันศุกร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือนแปด(๘) ปีมะแม
วันสุนทรภู่ พ.ศ.2559 ตรงกับ วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2559 / วันอาทิตย์ แรม ๗ ค่ำ เดือนเจ็ด(๗) ปีวอก
วันสุนทรภู่ พ.ศ.2560 ตรงกับ วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2560 / วันจันทร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนแปด(๘) ปีระกา
วันสุนทรภู่ พ.ศ.2561 ตรงกับ วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2561 / วันอังคาร ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนแปด(๘) ปีจอ
วันสุนทรภู่ พ.ศ.2562 ตรงกับ วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2562 / วันพุธ แรม ๙ ค่ำ เดือนเจ็ด(๗) ปีกุน
วันสุนทรภู่ พ.ศ.2563 ตรงกับ วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2563 / วันศุกร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือนแปด(๘) ปีชวด
วันสุนทรภู่ พ.ศ.2564 ตรงกับ วันเสาร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2564 / วันเสาร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนแปด(๘) ปีฉลู
วันสุนทรภู่ พ.ศ.2565 ตรงกับ วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2565 / วันอาทิตย์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือนเจ็ด(๗) ปีขาล
วันสุนทรภู่ พ.ศ.2566 ตรงกับ วันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2566 / วันจันทร์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือนแปด(๘) ปีเถาะ
วันสุนทรภู่ พ.ศ.2567 ตรงกับ วันพุธที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2567 / วันพุธ แรม ๕ ค่ำ เดือนเจ็ด(๗) ปีมะโรง
วันสุนทรภู่ พ.ศ.2568 ตรงกับ วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2568 / วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑ ค่ำ เดือนแปด(๘) ปีมะเส็ง
ประวัติวันสุนทรภู่
ยูเนสโกประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติและได้ประกาศยกย่องสุนทรภู่ให้ เป็นบุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก ในการนี้ รัฐบาลไทย โดยคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการ จะเป็นผู้สืบค้นบรรพบุรุษไทยผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินการจัดตั้งสถาบันสุนทรภู่ขึ้นเพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับชีวิตและงานของสุนทรภู่ให้แพร่หลายในหมู่เยาวชนและประชาชนชาวไทยมากยิ่งขึ้น จึงได้กำหนดให้วันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี เป็น วันสุนทรภู่
ชีวประวัติ "สุนทรภู่"
สุนทรภู่เกิดวันจันทร์ วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2329 เวลา 8.00 น.เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลา แปดโมงเช้าอยู่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ณ บริเวณด้านเหนือของพระราชวังหลัง ซึ่งสุนทรภู่เกิดเมื่อหลังจากได้สร้างกรุงเทพมหานครแล้ว 4 ปี บิดาชื่อพ่อพลับเป็นชาวกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ส่วนมารดาชื่อแม่ช้อย เป็นชาวเมืองฉะเชิงเทราเป็นข้าหลวงอยู่ในพระราชวังหลัง หลังจากสุนทรภู่เกิดได้ไม่นาน บิดามารดาก็หย่าร้างกัน บิดาจึงออกไปบวชอยู่ที่วัดป่ากร่ำ ตำบลบ้านกร่ำ อำเภอแกลง ส่วนมารดาได้เข้าไปอยู่ในพระราชวังหลัง และถวายตัวเป็นนางนมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ ซึ่งนำสุนทรภู่ไปอยู่ด้วย ทำให้ท่านได้อยู่ในพระราชวังหลังกับมารดา และได้ถวายตัวเป็นข้าในกรมพระราชวังหลัง ส่วนน้องสาวต่างบิดา ของสุนทรภู่ ชื่อฉิมและนิ่ม
เมื่อสุนทรภู่อายุได้ประมาณ 2 ขวบ มารดาได้นำไปฝากให้เรียนหนังสือกับพระในสำนักวัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม อยู่ริมคลองบางกอกน้อย) แต่เพราะสุนทรภู่เป็นคนชอบแต่งบทกลอนและสามารถแต่งได้ดี ตั้งแต่รุ่นหนุ่ม ซึ่งต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นเสมียนนายระวางกรมพระคลังสวน ในกรมพระคลังสวน
เมื่อถึงคราวที่สุนทรภู่บวชจำพรรษาที่ กุฏิวัดเทพธิดาราม ได้แต่งบทกลอน และวรรณกรรมมากมาย เป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่า อย่างเรื่องพระอภัยมณี ฯลฯ ที่ท่านเก็บซ่อนไว้ใต้เพดานหลังคากุฏิของท่าน แต่ในปี พ.ศ.2359 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 2 สุนทรภู่ได้เข้ารับราชการในกรมอาลักษณ์ได้เป็นขุนสุนทรโวหาร แต่ในระหว่างรับราชการต้องโทษจำคุกเพราะถูกอุทธรณ์ว่าเมาสุราและทำร้ายญาติผู้ใหญ่ เมื่อภายหลังพ้นโทษออกมา ได้เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2
ส่วนในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 สุนทรภู่ได้ออกจากราชการและออกบวช ต่อมาลาสิกขาแล้วถวายตัวอยู่กับพระองค์เจ้าลักขณานุคุณได้หนึ่งปี เมื่อเจ้านายสิ้นพระชนม์ สุนทรภู่ก็ขาดที่พึ่งและได้รับความลำบากอย่างมาก ต้องลอยเรืออยู่และแต่งหนังสือขายเพื่อหาเลี้ยงชีวิต ต่อมาจึงได้รับพระอุปถัมภ์ จากกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ.2394 สุนทรภู่ ได้เป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ ฝ่ายพระราชวังบวร โดยได้รับยศเป็น พระสุนทรโวหาร ซึ่งผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากสุนทรภู่ จะได้รับนามสกุลคือ "ภู่เรือหงส์" และ สุนทรภู่ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.2398 รวมอายุได้ 69 ปี
กิจกรรมวันสุนทรภู่
เพราะภาษา บทกลอน หรือวรรณกรรม เป็นขนบธรรมเนียมประเพณี ที่ได้ถ่ายทอดจากขุนพลยอดกวีเอกของประเทศ สุนทรภู่ ผู้ซึ่งมีชื่อทางบทกวี และมีการถ่ายทอดผลงานดีๆ มายังลูกหลานไทย ให้รักษาไว้สืบไปเพื่อให้ได้เป็นมรดกของชาติ จากคนรุ่นหนึ่งไปยังรุ่นหลังๆต่อไปจนถึงปัจจุบัน และรักษาไว้ให้เจริญงอกงาม สร้างสรรค์ให้เจริญงอกงามโดยสืบทอดจากมรดกวัฒนธรรมในอดีตมาสู่ยุคปัจจุบัน ซึ่งในวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี จึงได้จัดให้มีกิจกรรมใน "วันสุนทรภู่ "ขึ้นมา
การจัดกิจกรรมโครงการ
การจัดบอร์ด หรือกิจกรรมจัดโครงการวันสุนทรภู่ขึ้น เพื่อเป็นการกระตุ้นและส่งเสริมการเรียนรู้แก่นักเรียน ซึ่งนอกจากนี้ยังจัดการเรียนการสอน ภายในห้องเรียน การส่งเสริมทักษะการเรียนรู้แก่ผู้เรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย และตระหนักถึงการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะที่หลากหลาย มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าแสดงออก ค้นคว้าหาความรู้ มีคุณธรรมจริยธรรม จึงได้
จัดนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติชีวิตและการประกวด
การจัดนิทรรศการและการแสดงผลงานประเภทนิทานฯ ของสุนทรภู่ การประกวด แข่งขัน ประชันสักวา ตอบคำถามเกี่ยวกับประวัติชีวิต และผลงานของสุนทรภู่ ประกวดโครง กลอน เช่น ประกวดแข่งขันความสามารถด้านภาษาไทย การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย และข้าราชการครูในสังกัด แข่งขันแต่งกลอนสด ประกวดร้องเพลง วาดภาพและระบายสีจากวรรณคดี อ่านทำนองเสนาะ คัดตัวอักษรไทย ตัวเลขไทย
มีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์
มีพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ พิธีสักการะและพิธีบวงสรวงพระบรมครูสุนทรภู่ กิจกรรมการแสดงเชิดชูเกียรติ "สุนทรภู่" ของนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ พร้อมทั้งมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวด นอกจากนี้ภายในงานยังมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย สินค้าราคาถูก อาหารหลากหลาย และละเล่นแบบไทย
บางสถานที่ของราชการ จะมีการจัดงานรำลึกสดุดีกวีเอกสุนทรภู่ เป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการรำลึกและเผยแพร่เกียรติคุณ ผลงานของสุนทรภู่บรมกวีเอกของโลก ถือเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมให้กับคนรุ่นหลังสืบต่อไป
ร่วมกันอนุรักษ์เอกลักษณ์ไทย
เพื่อให้นักเรียนได้ร่วมกิจกรรมวันสำคัญตามโครงการ ส่งเสริมให้นักเรียนกล้าแสดงออกในทางที่ถูกที่ควร เพื่อฝึกฝนให้นักเรียนเป็นคนดี คนเก่ง และมีชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข ส่งเสริมกิจกรรมทักษะกลุ่มสาระภาษาไทย ส่งเสริมให้เยาวชนเป็นคนดี มีศีลธรรม เพื่อเป็นการแสดงความมีศักดิ์ศรี ความเป็นอัตลักษณ์ของคนไทยและมีความภาคภูมิใจที่เราเกิดมาบนผืนแผ่นดินไทย คนไทยสามารถอนุรักษ์เอกลักษณ์ไทยและ สิ่งที่บ่งบอกความเป็นชาติไทยได้อย่างชัดเจน
ภาษาไทย
ภาษาพูดที่ใช้สื่อสารกันได้อย่างเข้าใจ คือภาษาไทยแม้จะมีสำเนียงที่แตกต่างกันไป ของแต่ละพื้นที่ รวมถึงการใช้ศัพท์กับบุคคลในระดับต่าง ๆ แต่อักษรไทยที่ใช้ในภาษาเขียนโดยทั่วไปส่วนใหญ่จะเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนเข้าใจกันได้เป็นอย่างดี ซึ่งการเรียนภาษาไทย คนไทยทุกคน ในทุกๆภาค จะถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เล็ก
การแต่งกาย
เครื่องแต่งกาย ของไทยที่ยังมีโอกาสได้เห็น ตามเทศกาลต่างๆ โอกาสสำคัญต่าง ๆ เช่น ในงานพระราชพิธี งานที่เป็นพิธีการ หรือในโอกาสพบปะ สังสรรค์ระหว่างผู้นำ พิธีแต่งงาน เทศกาลและงานประเพณีที่จัดขึ้น หรือในกิจกรรมต่าง ๆ ที่ต้องการ แสดงให้เห็นถึงความเป็นไทยอย่างชัดเจน แม้ว่าในปัจจุบันการแต่งกายของชาวไทยจะเป็นสากลมาก แต่ก็ยังคงไว้ในความเป็นไทย ในบางหน่วยงานของราชการ มีการรณรงค์ให้แต่งกายในรูป แบบไทย ๆ ด้วย ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
การไหว้
การแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ความมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมไปถึงความเกรงใจ ซึ่งการแสดงความเคารพด้วยการไหว้และกราบ สามารถแบ่งแยกออกได้อย่างชัดเจน เช่น กราบพระพุทธรูป กราบพระสงฆ์ กราบไหว้บุคคลในฐานะ หรือวัยต่าง ๆ ตลอดจนการวางตนด้วยความสุภาพอ่อนน้อมถ่อมตน
ศิลปวัฒนธรรมและประเพณี
แม้จะมีการรับวัฒนธรรมของชาติเข้ามา แต่คนไทยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม และปฏิบัติสืบต่อกันมาจน กลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของไทย รวมถึง ดนตรีไทย กีฬาไทย และการละเล่นพื้นเมืองต่างๆศิลปวัฒนธรรมและประเพณี เอกลักษณ์ของชาติไทย ที่แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่เป็นสิ่งที่จะต้องคงอยู่ในใจของคนไทยตลอดไป
แนวทางการส่งเสริมกิจกรรมวันสุนทรภู่
เพราะสุนทรภู่ เป็นสุดยอดกวีไทย ที่ทำให้ชาวไทย ได้มีกวีเอกของโลกที่เป็นคนไทยซึ่งทุกๆ ปีจะมีกิจกรรมเกี่ยวกับวันสุนทรภู่ เพื่อให้เยาวชน ร่วมกันรำลึกถึง แนวทางบทกวีและวรรณกรรม ต่างๆ รวมถึงผลงานของท่าน และไม่อยากให้สิ่งเหล่านั้นหายไป การได้จัดกิจกรรม และหาแนวทางส่งเสริม เพื่อให้ผลงานของท่านนั้นอยู่คู่กับคนไทยสืบไป
เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกนักเรียน
การจัดกิจกรรมวันสุนทรภู่ขึ้นมาเพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกนักเรียน และบุคลากรในโรงเรียนให้ตระหนักถึงความสำคัญและเห็นคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันรักษา ส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทย อันเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติอันล้ำค่าของชาติไทยให้คงอยู่คู่ชาติตลอดไป
เพิ่มประสิทธิภาพการเรียนภาษาไทย
เป็นกิจกรรมเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพ ของการใช้ภาษาไทย ซึ่งจะทำให้นักเรียนมีการยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาให้สัมฤทธิ์ผลดียิ่งขึ้น
ให้รู้จักอนุรักษ์ของไทยๆ
การจัดกิจกรรม วันสุนทรภู่ ขึ้นมาเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความสามารถทางภาษาไทยแก่นักเรียนตามศักยภาพ ซึ่งนักเรียนสามารถแสดงออกด้านความคิดสร้างสรรค์ และมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงออกด้านความคิดสร้างสรรค์ และมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม มีส่วนร่วมส่งเสริมในการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย และมีความสามารถทางภาษาไทยตามวัตถุประสงค์ที่วาง รวมถึงสามารถส่งเสริมและสืบสานมรดกทางวรรณศิลป์ของสุนทรภู่ ให้เยาวชนและบุคคลทั่วไปเข้าใจและตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรม
ทั้งนี้ในการส่งเสริมกิจกรรมวันสุนทรภู่ขึ้น ก็เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติประวัติสุนทรภู่ กวีเอกของโลก เพื่อเผยแพร่ผลงานอันเป็นมรดกของชาติ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมด้านภาษา เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ฝึกฝน และแสดงความสามารถด้านภาษาไทย และเพื่อส่งเสริมผู้เรียนให้มีความสร้างสรรค์ และกล้าแสดงออกในรุ่นอื่นๆ สืบต่อไป