วันวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชา เป็นอีกหนึ่งวันที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา ทำให้ชาวไทยมีโอกาสได้เข้าวัดทำบุญ ซึ่งยังเป็นวันหยุดของทางราชการและเอกชน ทั่วทั้งปะเทศไทยอีกด้วย เป็นการระลึกถึงคำสอนสิ่งดีๆของพระพุทธเจ้า บำเพ็ญแต่ความดี ละเว้นความชั่ว และ ทำให้จิตใจผ่องใส และปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า รวมถึงการไม่เป็นผู้เบียดเบียนหรือทำร้ายผู้คนอื่น พร้อมทั้งอาจปฏิบัติรักษาศีล และตั้งตนไม่อยู่ในความประมาท
ความหมายของ วันวิสาขบูชา
การบูชาในวันเพ็ญเดือนหก(๖) คือความหมายของวันวิสาขบูชา ที่ย่อมาจากคำว่า "วิสาขปุรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" ซึ่งเป็นเดือนที่สองตามปฏิทินของอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญเดือนหก(๖)ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งวันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญ ทางพระพุทธศาสนาสำหรับชาวพุทธทั่วโลก และเป็นวันสำคัญในระดับนานาชาติตามข้อมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา 3 เหตุการณ์ด้วยกัน คือวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธโคดม โดยทั้งสามเหตุการณ์ได้เกิด ในวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ (แต่ต่างปีกัน) ชาวพุทธจึงถือว่า เป็นวันที่รวมเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ยิ่ง และเรียกการบูชาในวันนี้ว่า "วันวิสาขบูชา"
วันวิสาขบูชาในประเทศไทย
วันวิสาขบูชา ถือได้ว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากล้วนมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการถือกำเนิดของพระพุทธศาสนา คือ เป็นวันที่พระศาสดา คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ทำให้พุทธศาสนิกชนทั่วโลก ให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชา ซึ่งชาวพุทธได้พร้อมใจกันจัดพิธีพุทธบูชาในวันนี้พร้อมกันทั่วทั้งโลก ซึ่งสมัชชาสหประชาชาติยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็น "วันสำคัญสากล
วันวิสาขบูชาของต่าวประเทศ
วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการในหลายประเทศ เช่น อินเดีย , ศรีลังกา,สิงคโปร์, ไทย, พม่า , บังคลาเทศ,ฯลฯ ซึ่งวันวิสาขบูชา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ เสด็จดับขันธปรินิพพาน ปัจจุบันเริ่มมีการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา และประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ มีการจัดงานเฉลิมฉลองตามวัดพุทธต่าง ๆ งานวันวิสาขบูชาในศรีลังกานั้นจัดติดต่อกันถึง 7 วัน 7 คืน ถือได้ว่าเป็นงานใหญ่ มีการปล่อยนักโทษให้ได้รับอิสรภาพถวายเป็นพุทธบูชา ตามบ้านเรือนจะมีการตั้งโรงทาน และประดับประดาธงทิว และโคมไฟต่าง ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของศรีลังกา โดยจะทำเป็นรูปเรื่องราวในพุทธประวัติต่าง ๆ
วันที่ใช้จัดงานวันวิสาขบูชา
แต่ละปีวันวิสาขบูชาจะไม่ตรงกันตามปฏิทินสากล จะใช้วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนหก(๖) ตามปฏิทินจันทรคติไทย ในการจัดพิธีการสำคัญนี้
ปฏิทินวันวิสาขบูชา
วันวิสาขบูชา พ.ศ.2558 ตรงกับ วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2558 / วันจันทร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนเจ็ด(๗) ปีมะแม
วันวิสาขบูชา พ.ศ.2559 ตรงกับ วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2559 / วันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีวอก
วันวิสาขบูชา พ.ศ.2560 ตรงกับ วันพุธที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2560 / วันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีระกา
วันวิสาขบูชา พ.ศ.2561 ตรงกับ วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ.2561 / วันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนเจ็ด(๗) ปีจอ
วันวิสาขบูชา พ.ศ.2562 ตรงกับ วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2562 / วันเสาร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีกุน
วันวิสาขบูชา พ.ศ.2563 ตรงกับ วันพุธที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2563 / วันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีชวด
วันวิสาขบูชา พ.ศ.2564 ตรงกับ วันพุธที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2564 / วันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนเจ็ด(๗) ปีฉลู
วันวิสาขบูชา พ.ศ.2565 ตรงกับ วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2565 / วันอาทิตย์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีขาล
วันวิสาขบูชา พ.ศ.2567 ตรงกับ วันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2567 / วันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีมะโรง
วันวิสาขบูชา พ.ศ.2568 ตรงกับ วันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2568 / วันอาทิตย์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนหก(๖) ปีมะเส็ง
ประวัติของวันวิสาขบูชา
"วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดได้เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน ณ ดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล เนื่องจากเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าและจุดเริ่มต้นของศาสนาพุทธ โดยเหตุการณ์แรก เป็น "วันประสูติ นางสิริมหามายาได้ประสูติพระโอรส ณ ใต้ต้นสาละนั้น ในพระราชอุทยานลุมพินีวัน ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี ครั้นพระกุมารประสูติได้ 5 วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ" แปลว่า "สมปรารถนา"
เหตุการณ์ต่อมาเป็น "วันที่เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ในตอนเช้ามืดของวันพุธขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนหก(๖)ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา ณ ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม สิ่งที่ตรัสรู้ คือ อริยสัจสี่ เป็นความจริงอันประเสริฐ 4 ประการของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จไปที่ต้นมหาโพธิ์ และทรงเจริญสมาธิภาวนาจนจิตเป็นสมาธิได้ฌานที่ 4 แล้วบำเพ็ญภาวนาต่อไปจนได้ฌาน 3
และเหตุการณ์สุดท้าย เป็น "วันเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า" ซึ่งเมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมเป็นเวลานานถึง 45 ปี จนมีพระชนมายุได้ 80 พรรษา ทรงประชวรอย่างหนัก แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ก่อนวาระสุดท้ายของคืนในราตรีเพ็ญเดือนหก(๖) พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้ บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด" หลังจากนั้นก็เสด็จเข้าดับขันธ์ปรินิพพาน ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในสาลวโนทยาน พระราชอุทยานของเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา
โดยทั้งสามเหตุการณ์ ล้วนเกิดตรงกับวันเพ็ญเดือนหก(๖) หรือเดือนวิสาขะนี้ทั้งสิ้น ชาวพุทธจึงนับถือว่าวันเพ็ญเดือนหก(๖) นี้ เป็นวันที่รวมวันคล้ายวันเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้าไว้ และได้นิยมประกอบพิธีบำเพ็ญบุญกุศลและประกอบพิธีพุทธบูชาต่าง ๆ เพื่อเป็นการถวายสักการะรำลึกถึงแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบทอดยาวมาจนปัจจุบัน
วันวิสาขบูชา เริ่มต้นครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สันนิษฐานว่าได้รับแบบแผนมาจากลังกา นั่นคือ เมื่อประมาณ พ.ศ.420 พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาขึ้น เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จากนั้นกษัตริย์ลังกา พระองค์อื่นๆ ก็ปฏิบัติประเพณีวิสาขบูชานี้สืบทอดต่อกันมา
เป็นเพราะในสมัยกรุงสุโขทัยประเทศไทยมีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนากับประเทศลังกาอย่างใกล้ชิด มีพระสงฆ์จากประเทศลังกาหลายรูปเดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และนำการประกอบพิธีวิสาขบูชาเข้ามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย
กิจกรรมในวันวิสาขบูชา
เพราะ วันวิสาขบูชา เป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการถือกำเนิดของพระพุทธศาสนา คือ เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ดังนั้นพุทธศาสนิกชนจึงให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชานี้ และเพื่อบำเพ็ญกุศลระลึกถึงพระพุทธเจ้า ชาวพุทธจึงร่วมกันจัดพิธีทำบุญใหญ่หรือจัดกิจกรรมต่างขึ้นมา
การประกอบพิธีใน วันวิสาขบูชา
การประกอบพิธีในวันวิสาชบูชา จะแบ่งออกเป็น สามพิธีคือ พิธีหลวง คือ พระราชพิธีสำหรับพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงประกอบในวันวิสาขบูชา พิธีราษฎร์ คือ พิธีของประชาชนชาวพุทธทั่วไป และพิธีของพระสงฆ์ คือ พิธีที่พระสงฆ์ประกอบศาสนกิจในวันวิสาขบูชา
ทำบุญตักบาตร
วันวิสาขบูชาพุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า จัดสำรับคาวหวานไปทำบุญถวายภัตตาหารที่วัด การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับ และเจ้ากรรมนายเวร ปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา รักษาศีล 5 ศีล 8 ซึ่งอาจจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลอื่น ๆ เช่น ละเว้นการทำบาป ทำบุญถวายสังฆทาน ทำอิสระทาน ซึ่งส่วนใหญ่จะทำเกี่ยวกับการทำดีและทำตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า
สร้างอิสระทาน
นอกจากทำบุญแล้ว การทำทานต่อด้วยการปล่อยนก ปล่อยปลาที่อยู่ในวัด ซึ่งจะมีคนนำมาขาย หรือจะไปที่ตลาดเพื่อซื้อปลาไปปล่อย ซึ่ง ถือว่าเป็นการช่วยชีวิตสัตว์ที่ใกล้กำลังจะตาย หรือ ใกล้จะเป็นอาหารของคนเพราะจะต้องถูกฆ่า แต่การที่เราได้ช่วยชีวิตด้วยการซื้อปลาไปปล่อยถือว่าเป็นการทำทานและสร้างกุศลให้กับตัวเอง ซึ่งถือเป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าคือ ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
เวียนเทียน
ตลอดวันอาจมีการร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับวันสำคัญทางพุทธศาสนา และพอถึงช่วงเย็น ก็เข้าร่วมพิธีเวียนเทียนรอบอุโบสถที่วัดในตอนค่ำ เพื่อรำลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งการจุดธูปเทียนและถือดอกไม้เป็นเครื่องสักการบูชาในมือ แล้วเดินเวียนรอบโบสถ์ 3 รอบ โดยขณะที่เดินนั้นพึงตั้งจิตให้สงบ พร้อมสวดระลึกถึงพระพุทธคุณ ด้วยการสวดบทอิติปิโส (รอบที่หนึ่ง) ระลึกถึงพระธรรมคุณ ด้วยการสวดสวากขาโต (รอบที่สอง) และระลึกถึงพระสังฆคุณ ด้วยการสวดสุปะฏิปันโน (รอบที่สาม) จนกว่าจะเวียนจบ 3 รอบ จากนั้นนำธูปเทียนดอกไม้ไปบูชาตามโบสถ์
นอกจากนี้อาจจะมีการ ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน วัดและสถานที่ราชการ และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ อย่างการเก็บกวาดขยะตามบริเวณวัด หรือแหล่งชุมชน ซึ่งการทำสิ่งที่ทำให้สบายใจ ทำความดี ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเช่นนี้ จะทำให้คุณมีจิตใจที่สงบและได้บุญกุศลกลับบ้านไปด้วย
แนวทางการส่งเสริมกิจกรรม วันวิสาขบูชา
พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้มวลมนุษย์มีเมตตาธรรมและมีขันติธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เพื่อให้เกิดสันติสุขในสังคม ซึ่งการยึดหลักปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่สอนให้เราทำความดีและไม่ทำบาปยังคงใช้ได้มาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งยังมีหลักคำสอนดีๆจากพระองค์และวันสำคัญทางศาสนาที่เราจะต้องช่วยกันสืบสานให้อยู่คู่ชาวพุทธไปตลอด
จัดนิทรรศการ
การแสดงหรือจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติ หรือเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับวันวิสาขบูชาตามโรงเรียน หรือสถานที่ราชการต่างๆ เพื่อให้ความรู้ และเป็นการร่วมรำลึกถึงความสำคัญของวันวิสาขบูชา ถือเป็นการเผยแพร่พระพุทธศาสนา เผยแพร่ประวัติของพระพุทธเจ้า เพื่อให้ชาวพุทธได้รำลึกถึงหลักคำสอนของพระองค์
ศึกษาหลักธรรมคำสอน
เพราะวันวิสาขบูชาเป็นวันที่ชาวพุทธควรจะเจริญพุทธานุสติและ ระลึกถึงหนทางการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย การที่ได้หันมาศึกษาหลักพระธรรมและคำสอน ของพระพุทธเจ้า เพื่อให้เป็นเสมือนไฟส่องทาง พื่อให้เกิดแสงสว่างในใจ และนำไปสู่สวรรค์นิพพาน อาจเริ่มจากการนั่งสมาธิ เพื่อให้เข้าถึงพระธรรมกายซึ่งเป็นกายแห่งการตรัสรู้ธรรม แม้แต่การได้ไปจุดประทีป เดินเวียนเทียนรอบพุทธเจดีย์ที่ เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชา เพื่อภายนอกได้สว่างด้วยแสงเทียน และภายในใจสว่างด้วยแสงธรรม
จัดให้มีกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนา
การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับศาสนา สามารถทำได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นตอบคำถามเรื่องธรรมะ หรือ การจัดนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ บาป บุญ ผ่านทาบตัวแสดง ซึ่งจะทำให้คนได้เห็นข้อเปรียบ และหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งถือว่าเป็นการสื่อให้เห็นถึงการทำความดีและชั่วให้เห็นต่างกัน และผลของสิ่งที่ทำว่าจะได้รับอะไรบ้าง
แนวทางการส่งเสริมหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า หรือแนวทางการส่งเสริมวันวิสาขบูชา ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมใดก็ตาม และ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระวิสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อมวลมนุษย์และสรรพสัตว์ ได้มีการร่วมมือเพื่อช่วยกันอนุรักษ์วันสำคัญๆ ของศาสนา ให้สืบต่ออย่างยาวนาน